
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทส.) เป็นตัวแทนรับมอบข้อเสนอจากเวทีการประชุมสัมมนาวิชาการสาธารณะระดับชาติ ของเครือข่ายภาคประชาชน ในหัวข้อ “สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ พลเมืองไทย“ ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี
ที่ปรึกษา รมว.ทส. ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ “Environmental and Health Justice FORUM” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจ สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในมุมมองของภาคประชาสังคม รวมถึงร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนานโยบาย การปรับปรุงกฎหมาย และการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน อันเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงทั้งกับวิกฤติระดับโลก และระดับประเทศ
ในการนี้ ที่ประชุมได้เสนอ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย กฎหมาย และแนวทางการขับเคลื่อนด้านสิทธิ ความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของพลเมืองไทย” ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นำไปพิจารณาผลักดันในระดับนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ ที่ปรึกษา รมว.ทส. ได้กล่าวแสดงความชื่นชมและขอบคุณผู้จัดงาน ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเวทีสัมมนาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ตลอดมา และยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันออกแบบการทำงานแก้ไขปัญหาด้านการปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยจะนำข้อเสนอจากเวทีดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจของกระทรวงฯ ไปจัดลำดับประเด็นเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป
โดยเนื้อหาข้อเสนอกฎหมาย นโยบาย และการขับเคลื่อนสิทธิ ความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะพลเมืองไทนระบุว่า การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความเป็นธรรมและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิทธิมนุษยชนสากลสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพัฒนา การกระจายอำนาจ เป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ
ย้ำว่า สิทธิ ความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ เป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดเป็นจริง

การสัมมนาสาธารณะ “สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย” ตระหนักว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนโลหะหนัก ไมโครพลาสติก ฝุ่นควัน การจัดทำนโยบายสาธารณะที่มีความคับแคบ และอื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ปัญหาสุขภาพ ความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาและข้อมติด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ประกอบกับสิทธิ หน้าที่ และแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทย รัฐบาลจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปรับปรุงพัฒนากฎหมาย นโยบาย แนวปฏิบัติ และแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
สิทธิในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สิทธิการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน และสิทธิเชิงกระบวนการ ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และตรากฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
มลพิษ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบข้ามพรมแดน มลพิษ ภัยธรรมชาติ เช่น การทำเหมืองทองคำที่ก่อให้เกิดสารหนูในแม่น้ำกก ดินโคลนถล่มแม่สาย และ PM 2.5 มีลักษณะข้ามพรมแดน ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาควรจำแนกเป็น
ระดับวิกฤต ซึ่งก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง เช่น สารหนูในแม่น้ำกก ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีจดหมายต่อประเทศที่เป็นต้นเหตุให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยทันที พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวัง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่มีความจำเป็นรัฐบาลอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อให้การทำเหมืองปลอดภัย
ระดับก่อผลกระทบต่อเนื่อง เช่น PM 2.5 รัฐบาลควรใช้กลไกอาเซียนแก้ไขปัญหาการก่อมลพิษจากแหล่งกำเนิด และการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในระดับพื้นที่ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่มีการก่อมลพิษข้ามพรมแดนที่ผู้ประกอบการไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ถือเสมือนว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องรับผิดชอบตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
ให้ชะลอการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนสารคาม เขื่อนภูงอย และอื่น ๆ ที่กระทบต่อนิเวศและชุมชน จัดให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในลุ่มน้ำอย่างครบถ้วน และนำข้อเสนอจากชุมชนมาพิจารณาเป็นอันดับแรก
คนอยู่กับป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และชนเผ่า จากปัญหากฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและป่าไม้ที่กดทับชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และชุมชนชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่สร้างผลกระทบต่อสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ แล้วเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายหรือกระบวนการจัดทำกฎหมาย จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้ตั้งอยู่บนหลักคิดคนอยู่ร่วมกับป่า สิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่า และการรับรองสิทธิในการพิสูจน์สิทธิที่มีอยู่ก่อนการประกาศกฎหมายทับซ้อนกับที่ดินของชุมชน รวมทั้งการมีบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยทะเลและชายฝั่ง
นอกจากนั้นต้องร่วมกับภาคประชาชนสนับสนุนกฎหมายใหม่ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้ และร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
กรณีชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนต่อหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง และให้ประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ฉบับผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
มหาสมุทร สุขภาพ และความเป็นธรรม
๑. การประมงที่ยั่งยืน รัฐบาลและรัฐสภาต้องยึดมั่นในหลักการ การประมงที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย มีการรายงานและการควบคุม ตระหนักในความสำคัญของการรักษาสมดุลของทะเลและมหาสมุทร สภาผู้แทนราษฎรทบทวนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมง ด้วยการคงบทบัญญัติเดิมของพระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ มาตรา ๖๖ เรื่องการจับสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนม มาตรา ๖๙ ไม่อนุญาตให้ใช้อวนล้อมตาต่ำกว่า ๒.๕ เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน และมาตรา ๑๑๔ ว่าด้วยการทำการประมงฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ครั้งเดียวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง
๒. จัดให้มีนโยบาย มาตรการ และการปรับปรุงกฎหมายประมงเพื่อรับรองสิทธิและสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้าน ตามแนวปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการทำงานกับชาวประมงขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยสมัครใจในบริบทของความมั่นคงทางอาหารและการขจัดความยากจนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
๓. จัดให้มีการประเมินผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนชายฝั่ง การกระจายอำนาจ และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทะเล
๔. ขยะทะเลและไมโครพลาสติก ขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงทะเลแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารทะเลและระบบนิเวศ ก่อมลภาวะที่เป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหา รัฐบาลและรัฐสภา ควรให้ความเห็นชอบและรับรองสนธิสัญญาพลาสติกโลกภายใต้หลักการลดการใช้และควบคุมพลาสติกตลอดห่วงโซ่ชีวิตของพลาสติก
รัฐบาลและรัฐสภา ควรเร่งรัดให้มีกฎหมายบริหารจัดการพลาสติกตลอดห่วงโซ่ชีวิตพลาสติก บรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ การกำจัดและความรับผิดขอบของผู้ผลิต
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล
๕. โครงการถมทะเล สร้างท่าเรือ และทำสะพานเศรษฐกิจ ระนอง ชุมพร จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ป่าบก และแหล่งต้นน้ำลำธารของภาคใต้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติควรมีการคุ้มครองสิทธิและจารีตประเพณีของชุมชนดั้งเดิม และมีบทบาทร่วมกับภาคประชาชนในการศึกษาผลกระทบ การปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖. โครงการพัฒนาชายฝั่งและมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนต้องมีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
๗. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องมีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศทะเล ควบคุมพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์สำคัญ
การบริหารจัดการน้ำ ภัยพิบัติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิชุมชน
๑. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเสนอให้รัฐบาลทบทวนโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะมีผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเมินผลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรและคนรายได้น้อยที่ดำรงชีพริมน้ำ เช่น โครงการโขง ชี มูล โครงการขุดลอกและพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ตลอดจนให้ทบทวนหรือชะลอโครงการที่มีผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านโดยรับฟังข้อมูลจากประชาชน และกระจายอำนาจมาสู่ชุมชนในพื้นที่
๒. ด้านภัยพิบัติ ประชาชนในท้องถิ่นเป็นด่านหน้าของการเผชิญภัย ดังนั้น รัฐบาลควรเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ การพัฒนาระบบเตือนภัย การฟื้นฟูหลังประสบภัย น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ และการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินการข้างต้น ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา และให้ความเห็นต่อโครงการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติ หรือทำให้ภัยมีความรุนแรงขึ้น
๓. กระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้กับท้องถิ่นและชุมชนในระดับที่สามารถตัดสินใจและการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งใหกับกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ
๔. การพัฒนาแหล่งน้ำต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมและดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ วิถีชีวิตของชุมชน
๕. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบของน้ำท่วม น้ำหลากในพื้นที่เมืองต้องได้รับการชดเชยเยียวยาและการฟื้นฟูจากภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ
มลพิษและกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์
๑. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการลักลอบทิ้งน้ำเสีย และกากอุตสาหกรรม และให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง
๒. เร่งรัดการตรากฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR)
๓. เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในการเฝ้าระวังมลพิษ และสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง มีกลไกการจัดการ
๔. จัดให้มีงบประมาณสนับสนุนชุมชนในการศึกษารวบรวมข้อมูล หรือจัดจ้างนักวิชาการเพื่อทำการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเจ้าของโครงการ เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมาย
๕. ยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนในโรงงานที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และทบทวนการส่งเสริมการลงทุนในโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน ทั้งนี้ควรให้โรงงานที่อาจก่อมลพิษให้จัดตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม
ความยั่งยืนและความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
สถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว อุณหภูมิโลกสูงเกิน ๑.๕ องศา และความหลากหลายชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็วเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ากลไกระดับโลกและประเทศไม่สามารถควบคุมการขยายตัวของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทั้งสองเรื่องได้ การใช้กลไกตลาดและการพึ่งพาเทคโนโลยีไม่เพียงแต่ไม่แก้ปัญหายังนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืนต่อธรรมชาติและประชาชน
๑. เร่งรัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด และการทำลายความหลากหลายชีวภาพภายในปี ค.ศ. ๒๕๓๐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แก้ไขพรบ และระเบียบกระทรวงการคลัง
๒. เปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนผ่านอุสาหกรรมเกษตรพาณิชย์ไปสู่เกษตรนิเวศที่เกษตรกรและชุมชนเป็นศูนย์กลาง
๓. มีนโยบายและกฎหมายตรวจสอบและสร้างความพร้อมรับผิดแก่กลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนและสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
๔.มีนโยบายและกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพบนหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ความเป็นธรรม และความยั่งยืนต่อระบบนิเวศและสังคม
๕.ส่งเสริมและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบริการในทุกภาคส่วน เช่น ภาคเกษตร และด้านอื่น สนับสนุเศรษฐกิจชีวภาพของเกษกรอย่างครบวงจร
๖.คุ้มครองส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมือง สิทธิชุมชนในการจัดการสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
๗.ไม่ใช้กลไกตลาดที่เสี่ยงต่อความไม่เป็นธรรมและการฟอกเขียวในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและความหลากหลายทางชีวภาพ
๘.สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงบประมาณ การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชน และกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนการสื่อสารเพื่อผลักดันประเด็น
๙. ทบทวน ปรับปรุงการประเมิน ศึกษาผลกระทบทั้งโครงการขนาดเล็กและใหญ่ให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ และให้ชุมชนมีสิทธิในการตัดสินใจ
ข้อเสนอต่อองค์กรภาคประชาชน และภาควิชาการ
๑. ภาคประชาชนตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และปัญหาเชิงโครงสร้างด้านสิทธิชุมชน โดยพร้อมที่จะเข้าร่วมการดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอาสาที่จะเชื่อมโยง และประสานการดำเนินการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน การพัฒนาและส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ขอให้จัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับภาคประชาสังคม
๒. ภาควิชาการและมหาวิทยาลัยควรจะแสดงบทบาทนำทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความกระจ่างให้สังคมก้าวข้ามไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ สร้างกลไกให้กับภาควิชาการให้การพัฒนาองค์ความรู้ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิชุมชน และสนับสนุนภาคประชาชน เพื่อมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลมากขึ้น
