องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
หมวดที่ ๑ ทั่วไป
ข้อ ๑. องค์กร
ให้มีองค์การอิสระเรียกว่า “ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ” ใช้ชื่อย่อว่า “สคส.” และเรียกว่าชื่อภาษาอังกฤษว่า “ Assembly of Non-Government Organizations for the Protection and Conservation of the Environment and Natural Resources ” ใช้อักษรย่อว่า “ Env.NGOs”
ข้อ ๒. สัญลักษณ์ [1]
เครื่องหมายของสมัชชา ฯ เป็นรูปคนจับมือเป็นรูปหัวใจและโอบล้อมปลากับใบไม้เอาไว้ เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนที่ร่วมกันทำงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของนักอนุรักษ์อย่างแท้จริง
ข้อ ๓. สำนักงาน
ให้มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซอย ๔๙ ถนนพระรามที่ ๖ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐ และมีสำนักงานประสานงาน ตั้งอยู่ที่ ๒๒๒ ซอยรามอินทรา ๖๑ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๓๐ [2] หรือขึ้นอยู่กับมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการบริหารแต่ละชุด ส่วนสำนักงานระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ให้จัดตั้งได้ตามความเหมาะสมหรือมีความพร้อม
หมวดที่ ๒ วัตถุประสงค์และกิจกรรม
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์
๔.๑ ส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
๔.๒ สนับสนุนสิทธิและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนให้สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รวมถึงการเสริมสร้างจิตสำนึกและเข้าร่วมในการคุ้มครองสภาพแวดล้อมของประชาชนทุกหมู่เหล่าด้วย
๔.๓ ประสานงานองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในการเสริมสร้างศักยภาพ สร้างแนวร่วม ตลอดจนการประสานงานกับภาครัฐ องค์กรเอกชน ธุรกิจ เอกชน ประชาชน และอื่นๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ข้อ ๕. บทบาทหน้าที่ [3]
๕.๑ ดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวบรวมข้อมูล แลกเปลี่ยน เผยแพร่ผลการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ให้การศึกษาอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ปฏิบัติงาน ขององค์กรสมาชิก
๕.๒ ประสานงานเครือข่ายองค์กรสมาชิกกับภาครัฐ องค์กรเอกชน ธุรกิจเอกชน ประชาชนและอื่นๆ ทั้งภายใน และระหว่างประเทศ
๕.๓ สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
๕.๔ ส่งเสริมความร่วมมือของสมาชิกในการติดตาม เฝ้าระวัง เสนอแนะในเชิงนโยบาย แผนงาน กฎหมาย ฯลฯ ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการกิจกรรม ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดยรวมถึงการสร้างกลไกระดมความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการ กิจกรรมดังกล่าว
๕.๕ สรรหาและเสนอผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ หรือกรรมาธิการในเรื่องที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทุกระดับ
๕.๖ ดำเนินการส่งเสริมสิทธิและเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
๕.๗ ดำเนินการเสริมสร้างจิตสำนึกและศักยภาพของประชาชนทุกเพศทุกวัย องค์กรประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสามารถร่วมกันรักษาให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
๕.๘ ดำเนินการเรื่องอื่นตามที่สมัชชา ฯ กำหนด
หมวดที่ ๓ สมาชิกภาพ
ข้อ ๖. สมาชิก
๖.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ องค์กรประชาชนหรือองค์กรเอกชน ที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ขึ้นทะเบียนกับสมัชชาองค์กรเอกชนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
๖.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ องค์กรประชาชนสถาบันวิชาการ ที่มิได้ทำงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง แต่มีเจตนารมณ์หรืออุดมการณ์ที่จะดำเนินกิจกรรมร่วมกับสมัชชาฯ และขึ้นทะเบียนกับสมัชชาฯ แล้ว
ข้อ ๗. บทบาทหน้าที่สมาชิก
๗.๑ สมาชิกมีหน้าที่ปฏิบัติและสนับสนุนการทำงานสมัชชาฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
ข้อ ๘. สิทธิประโยชน์สมาชิก
๘.๑ สมาชิกสามัญมีสิทธิเลือกและได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารของสมัชชาฯ
๘.๒ สมาชิกสามัญมีสิทธิสรรหาและเลือกผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ
๘.๓ สมาชิกสิทธิได้รับทราบ และเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและเป็นเครือข่ายเกื้อหนุนกันโดยสมัชชาฯ เป็นองค์กรเชื่อมประสาน
๘.๔ สมาชิกมีสิทธิตรวจสอบคณะกรรมการบริหาร และเสนอต่อประชุมสมัชชาฯ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมัชชาฯ
๘.๕ สมาชิกมีสิทธิเสนอความคิดเห็นแตกต่างจากสมัชชา ฯ ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก
ข้อ ๙. การพ้นจากสมาชิกภาพ
๙.๑ เมื่อผู้แทนขององค์กรสมาชิกได้ทำหนังสือลาออก ต่อคณะกรรมการบริหารสมัชชาฯ [4]
๙.๒ เมื่อองค์กรสมาชิกล้มเลิกหรือยุติการทำงาน [5]
๙.๓ เมื่อคณะกรรมการสมัชชาฯ พิจารณายกเลิกการเป็นสมาชิกของสมัชชาฯ เนื่องจากมีการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมัชชาฯ [6]
๙.๔ เมื่อองค์กรสมาชิกขาดการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสามัญประจำปี ๓ ครั้งติดต่อกัน [7]
หมวดที่ ๔ องค์การและการจัดการ
ข้อ ๑๐. องค์กรของสมัชชาฯ จะประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการบริหาร ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่
ข้อ ๑๐.๑ ให้มีการจัดตั้งสมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานบริหารจัดการ ประสานงาน และสนับสนุนการทำงานขององค์กรสมัชชา [8]
ข้อ ๑๑. คณะกรรมการบริหาร
ให้มีคณะกรรมการ จำนวนไม่เกิน ๒๑ คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาชิกสามัญ ไม่เกิน ๑๕ คน โดยให้มีสัดส่วนแต่ละภาคอย่างน้อย ๑ คน[9] และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายและกรรมการจะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น[10]
๑๑.๑ กรรมการที่มาจากสมาชิกสามัญ มาจากผู้แทนองค์กรสมาชิกนั้นๆ และผู้แทนองค์กรสมาชิกเป็นผู้เลือกกรรมการไม่เกิน ๑๕ คน โดยให้เลือกกรรมการเพื่อขึ้นบัญชีไว้อีก ๕ คน ให้ขึ้นบัญชีไว้เรียงตามลำดับคะแนน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกิน ๕ คน มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการ [11]
11.2 คณะกรรมการดำเนินการเลือกประธาน ๑ คน รองประธาน เลขาธิการ กรรรมการตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็น และเหมาะสมจากบรรดากรรมการทั้งหมด[12] และพิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[13]
๑๑.๓ การดำเนินงานของคณะกรรมการดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปโดยความเห็นของที่ประชุมสมัชชาฯ
๑๑.๓.๑ การกำหนดแนวทางและขั้นตอนสำหรับการดำเนินการดำเนินกิจกรรมของสมัชชาฯ
๑๑.๓.๒ การกำหนดนโยบายสำหรับการจัดหาและการใช้จ่ายเงินกองทุนสมัชชาฯ
๑๑.๓.๓ การจัดลำดับความสำคัญและอนุมัติงบประมาณประจำปีของสมัชชาฯ
๑๑.๔ คณะกรรมการจะประชุมอย่างน้อยปีละ ๔ ครั้ง และคณะกรรมการจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี แต่อาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้อีกตามมติของผู้แทนองค์กรสมาชิกผู้เลือก
๑๑.๕ คณะกรรมการจะรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาสามัญอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๑๑.๖ คณะกรรมการจะกระทำในหน้าที่อื่น ๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมัชชาฯ
๑๑.๗ ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากสภาพการเป็นกรรมการ โดยการตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือ ที่ประชุมสมัชชาสามัญหรือวิสามัญมีมติให้ออก[14] ให้นำกรรมการสำรองที่ขึ้นบัญชีไว้มาดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างและให้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนมีกำหนดเวลาเท่ากับเวลาที่เหลืออยู่
ข้อ ๑๒. ผู้อำนวยการบริหาร
๑๒.๑ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งให้มีผู้อำนวยการบริหารเพื่อปฏิบัติงาน หรือไม่มีก็ได้ หากแต่งตั้งให้มี มีกำหนดวาระ ๓ ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่เป็นระยะเวลาติดต่อกันตามมติของคณะกรรมการบริหารได้ หากไม่มีการแต่งตั้งให้มีผู้อำนวยการบริหาร ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการทำหน้าที่ผู้อำนวยการบริหารแทน สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกประการตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการบริหาร
๑๒.๒ ผู้อำนวยการบริหาร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการและดำเนินงานของสมัชชา ฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมัชชาฯ และแนวนโยบายของคณะกรรมการ
๑๒.๓ ผู้อำนวยการบริหารจะกระทำการแทนสมัชชาฯ ในเรื่องการบริหารและการปฏิบัติการ ทั้งปวงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมัชชา ฯ และกระทำหน้าที่อื่น ๆ ที่อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ
๑๒.๔ ผู้อำนวยการบริหารมีหน้าที่รายงานการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการทราบทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการ
๑๒.๕ ผู้อำนวยการบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เลขานุการและเจ้าหน้าที่ในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๑๓. ที่ปรึกษา
๑๓.๑ คณะกรรมการบริหารสมัชชาฯ สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งตามกรรมการบริหารสมัชชาฯ [15]
๑๓.๒ ที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการและผู้อำนวยการบริหารในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๑๔. เจ้าหน้าที่
เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติอื่น ๆ ตามธรรมนูญนี้ ข้อความและเงื่อนไขในการจ้างเจ้าหน้าที่ของสมัชชาฯ จะได้รับการกำหนดไว้ในระเบียบสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งออกโดยผู้อำนวยการบริหารและโดยการอนุมัติของคณะกรรมการ
หมวดที่ ๕ การประชุมสมัชชา
ข้อ ๑๕. ให้มีการประชุมสมัชชาสามัญปีละหนึ่งครั้งเพื่อแถลงผลการดำเนินงานของสมัชชา ฯ ฐานะการเงินในรอบปี แสดงบัญชีงบดุลและปรึกษาหารือกิจกรรมทั่วไปของสมัชชา ฯ รวมทั้งชี้แจงข้อซักถามของสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสมัชชาฯ
ข้อ ๑๖. ในกรณีที่คณะกรรมการบริหาร หรือสมาชิกสามัญเกินกึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอ ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ ๑๗. ให้ผู้อำนวยการบริหาร โดยมติของคณะกรรมการ เป็นผู้ดำเนินการเรียกประชุมสมัชชาสามัญหรือวิสามัญ โดยจะต้องแจ้งกำหนดวัน เวลา และวาระการประชุมให้องค์กรสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน
ข้อ ๑๘. องค์ประชุมของที่ประชุมสมัชชาสามัญหรือวิสามัญ ต้องประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของสมาชิกทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุมหากผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุมให้เรียกประชุมใหม่ภายใน ๑๕ วัน เมื่อสมาชิกมาร่วมประชุมกันแล้วให้ถือเป็นองค์ประชุมได้
หมวดที่ ๖ การเงิน
ข้อ ๑๙. เงินรายได้ของสมัชชา ฯ มาจาก
๑๙.๑ เงินบำรุงจากสมาชิก
๑๙.๒ เงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม
๑๙.๓ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายอื่นประจำปี
๑๙.๔ เงินหรือทรัพย์สินจากการบริจาค
๑๙.๕ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่มีภาระผูกพัน
๑๙.๖ กิจกรรมหารายได้
ข้อ ๒๐. บัญชีของสมัชชาฯ จะได้รับการจัดทำตามวิธีปฏิบัติทั่วไป และจะได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ
หมวดที่ ๗ การแก้ไขธรรมนูญและบทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๑. การแก้ไขธรรมนูญ ให้ทำได้โดยที่ประชุมสมัชชา มีมติให้การเห็นชอบ ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม
ข้อ ๒๒. ผู้ก่อตั้งได้แก่ องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลงนามให้ความเห็นชอบในธรรมนูญ ฯ ตามบัญชีรายชื่อแนบท้าย
ข้อ ๒๓. ให้คณะกรรมการทีได้รับเลือกจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง รักษาการตามธรรมนูญนี้ หรือจนกว่าจะมีคณะกรรมการถาวร ทั้งนี้ไม่เกิน ๑ ปี และให้ออกระเบียบเพื่อสามารถดำเนินการของสมัชชา ฯ ได้
ข้อ ๒๔. บรรดาทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันก่อนตั้งถึงวันสิ้นสุดให้เป็นไปตามมติของสมัชชา ฯ
[1] เพราะ สัญลักษณ์ไม่มีชื่อองค์กร จึงขอแก้ไขให้ชัดเจน
[2] เพราะ สำนักงานเลขานุการฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิเพื่อนช้าง (ตามที่อยู่) ให้ใช้เป็นสำนักงานฯจนถึง ณ ปัจจุบัน
[3] แก้ไขข้อความ คำว่า “กิจกรรม” เป็น “ บทบาทหน้าที่” เพราะ เป็นคำที่สอดคล้องกว่า
[4] เดิม “สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อผู้แทนขององค์กร สมาชิกกลุ่ม ได้เสนอต่อสมัชชาฯ ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของสมัชชาฯ” แก้ไขเป็น “เมื่อผู้แทนขององค์กรสมาชิกได้ทำหนังสือลาออก ต่อคณะกรรมการบริหารสมัชชาฯ” – เพราะ : การลาออกเป็นสิทธิเฉพาะขององค์กร เมื่อได้ยื่นหนังสือแล้ว จึงถือว่ามีผลทันที
[5] เดิม “เมื่อองค์กร หรือกลุ่มของสมาชิก ล้มเลิกกลุ่มหรือองค์กรการทำงาน ถือว่าหมดสมาชิกภาพ” แก้ไขเป็น “เมื่อองค์กรสมาชิกล้มเลิกหรือยุติการทำงาน” -เพราะ : ปรับข้อความให้ตรงตาม เจตนาของข้อ ๙.๒
[6] เพิ่มข้อความาว่า “เนื่องจากมีการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมัชชาฯ” -เพราะ : ปรับข้อความให้เหมาะสม และระบุเหตุผลที่คณะกรรมการบริหารจะยกเลิกการเป็นสมาชิกสมัชชาฯ”
[7] เพิ่มเป็นข้อ ๙.๔ เมื่องค์กรสมาชิกขาดประชุมสามัญประจำปี 3 ครั้ง ติดต่อกัน
[8] ให้เพิ่มข้อ ๑๐.๑ ว่า ให้มีการจัดตั้งสมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานบริหารจัดการ ประสานงาน และสนับสนุนการทำงานขององค์กรสมัชชา
[9] เพิ่มข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนกรรมการจากภูมิภาค และการคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชาย : มติที่ประชุมสมัชชาสามัญ ปี 2561
[10] วรรค ๑ แก้ไขข้อความ เดิม “ทั้งนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น”
[11] สลับข้อความให้กระชับ และเพิ่ม ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ : มติที่ประชุมสมัชชาสามัญ ปี 2561
[12] ตัดข้อความคำว่า “ เพื่อทำหน้าที่มีกำหนดวาระ ๓ ปี” จาก เดิมออก เพราะ ข้อ ๑๑.๕ ได้ระบุไว้แล้ว
[13] เพื่อข้อความ เพื่อความสมบูรณ์ ในข้อ 11.1. : มติที่ประชุมสมัชชาสามัญ ปี 2561
[14] เดิม “ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากสภาพการเป็นกรรมการโดยการตาย ลาออก ให้ออก ขาดคุณสมบัติ สมาชิกสามัญเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดมีมติให้ออก” แก้ไขเป็น “ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากสภาพการเป็นกรรมการ โดยการตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือ ที่ประชุมสมัชชาสามัญหรือวิสามัญมีมติให้ออก” เพราะ ข้อเท็จจริงการให้ออกควรเป็นมติที่ประชุมสมัชชาสามัญ และคำว่าให้ออก ซ้ำกับ คำสมาชิกสามัญมีมติให้ออกดังนั้นจึงให้ เพิ่มคำว่า หรือ เพื่อให้ข้อความเป็นที่เข้าใจมากขึ้น
[15] เดิม “ที่ปรึกษาจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย ๕ คน ตามคำเชิญของคณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี” เพราะ : ที่ปรึกษาจะมีจำนวนเท่าใด คุณสมบัติอย่างไร ควรเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารสมัชชาฯ แต่ละชุด
ดาวน์โหลดเอกสาร : ธรรมนูญสมัชชา