เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ดและยโสธร กว่า 150 คน ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน “ส่องให้ซอดกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีจากอดีตถึงปัจจุบัน ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีตอนล่าง บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐภายใต้โครงการโขง ชี มูล ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งแวดล้อม
ภายหลังการแลกเปลี่ยนตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้อ่านแถลงการณ์ ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีตอนล่าง-หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น 4 ข้อ ว่า 1.ให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชีให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม เพราะชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องสิทธิ์มา 16 ปีแล้ว 2.ให้รัฐบาลใหม่ยุติแนวคิดปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่อาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน 3.ให้รัฐบาลใหม่ทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา 4.ให้รัฐบาลให้สนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับนิเวศและชุมชน
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำถูกผูกโยงกับนโยบายรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนด ทำให้รัฐบาลได้รวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ บทเรียนการจัดการน้ำชีจากนโยบาย โขง ชี มูล หลังจากที่ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิ์ให้ศึกษาผลกระทบก็ชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นในแม่น้ำชีตอนล่าง และการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ และปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีตอนล่างก็ยังไม่เสร็จและใช้รัฐบาลเปลืองมาก
“บทเรียนเหล่านี้รัฐบาลควรหันกลับมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุ ไม่ใช่เอะอะก็จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเดียว โดยใช้วาทกรรมน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นเงื่อนไข อย่างเช่น การปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ได้ไม่คุ้มกับเสีย เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากร เช่น ป่าสักทอง เป็นต้น”นายสิริศักดิ์ กล่าว
นางเกษร พร้อมพรั่ง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า กลุ่มของเราได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิชุมชนโดยไม่มีการทำประชาคม16 ปีที่เราตามมาติดตามมาตลอดทุกเดือน เป็นระยะเวลา 16 ปี ซึ่งโดยผลกระทบนี้ชาวบ้านไม่ได้นิ่งดูดาย แต่ความล่าช้าเกิดจากภาครัฐเพราะไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา
“อยากเร่งรีบแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และเร่งดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีตอนล่าง โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย เพื่อจะได้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำน้ำชีให้เป็นแล้วเสร็จและเป็นรูปธรรม”นางเกษร กล่าว
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า เขื่อนสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2543 ผลกระทบก็เกิดขึ้นแถบลุ่มน้ำชี คือปัญหาน้ำท่วมขัง ปีหนึ่งท่วม3 – 4 เดือน ทำให้ต้นข้าวของชาวบ้านตายจึงต้องทำนาปรังชดเชยนาปี แต่การทำนาปรังไม่ได้อะไรเลยเพราะต้นทุนสูง
“มันคือผลกระทบที่รัฐบาลสร้างเขื่อนมาให้เราเดือดร้อน ท่วมเรามาแล้วตั้งแต่ปี 43 จนปัจจุบัน ปีนี้ที่เกิดขึ้น ท่วมนาปีแล้วก็แล้วยังจะมาท้วมนาปรังอีก”นางอมรรัตน์ กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ