ในปัจจุบัน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะสัตว์ป่า หนึ่งในนั้นคือ “ช้างป่า” สัตว์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ แต่กลับต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของถิ่นอาศัยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นและฤดูกาลที่แปรปรวน ทำให้พืชอาหารของช้างป่าเจริญเติบโตน้อยลง รวมทั้งแหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มแห้งเหือด ช้างป่าจึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากป่าอนุรักษ์ ไปยังพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อแสวงหาอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่
จากข้อมูลทางวิชาการทั่วโลกสะท้อนให้เห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ช้างป่าขยายพื้นที่หากินไกลขึ้นและกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพบเจอกับมนุษย์ในชุมชนใหม่ พื้นที่ใหม่ เมื่อทำนายบนการณ์คาดการณ์ที่โลกปล่อยคาร์บอนตามโมเดลการคาดการณ์ที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงต่อความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าเอเชียและช้างป่าแอฟริกามีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งสูงขึ้น และจากโมเดลการทำนายของ Kanagaraj et al. (2019) ช้างป่าอินเดีย อาจต้องสูญเสียถิ่นอาศัยประมาณ 41.8% ของพื้นที่อยู่อาศัยทั้งหมด 256,518 ตารางกิโลเมตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะสูญเสียไปภายในสิ้นศตวรรษนี้ เนื่องจากผลกระทบร่วมกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันจากมนุษย์ การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยที่คาดการณ์ไว้นั้นจะสูงขึ้นในพื้นที่ที่มีมนุษย์ครอบครอง ในระดับพื้นที่อาศัยที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำ เนื่องจากภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น จะทำให้ช้างป่าต้องหาที่หลบภัยในพื้นที่ที่มีระดับความสูงมากขึ้นตามหุบเขาที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มากขึ้นในเทือกเขาหิมาลัย
เมื่อช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เช่น ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด หรือสวนผลไม้ ย่อมทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นอกจากนี้ ช้างป่าบางตัวอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ปัญหานี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลและสร้างความไม่พอใจจากชุมชน และกลายเป็นความขัดแย้งที่สะสมจนยากจะแก้ไข หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง
การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการป้องกันภัย แต่ต้องอาศัยความเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของช้างป่า รวมถึงการหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แนวทางหนึ่งคือการสร้างและพัฒนาศักยภาพแหล่งอาหารและแหล่งน้ำภายในป่าอนุรักษ์เพื่อลดการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า การใช้รั้วกั้นที่ปลอดภัยทั้งต่อคนและสัตว์ป่า การปลูกพืชที่ช้างป่าไม่ชอบกินไว้รอบพื้นที่เกษตร และการให้ความรู้แก่ชุมชนในการรับมือและอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างไม่ตื่นตระหนก ล้วนเป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ได้จริง