สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ สคส. แสดงจดหมายเปิดผนึก เรื่อง เวที COP29, ร่างพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการคัดค้านตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิต ต่อผู้จัดเวที Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (COP) ครั้งที่ 29 ณ เมืองบากู ประเทศอาร์เซอไบจัน โดยมีสารคำคัญต่อสถานการณ์นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับโลกและประเทศไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ของโลกและของประเทศที่ไม่ต้องการรับผิดชอบลดการปล่อยคาร์บอนด้วยตนเองอย่างจริงจัง แต่ใช้การ “ฟอกเขียว” จากแนวทางการชดเชยคาร์บอน (Carbon offset) ซึ่งสคส.ยืนยันว่าแนวนโยบายของสหประชาชาติและรัฐไทยต้องอยู่บนหลักการ 1) สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และความเป็นธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ความรับผิดชอบที่แตกต่างต่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้เท่าทันสถานการณ์วิกฤติของโลก โดยเป็นหลักความรับผิดชอบที่แตกต่างที่ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ต้องลดและเลิกปล่อยคาร์บอนตามสัดส่วนของการปล่อย และรับผิดชอบต่อความเสียหาย สูญเสียของธรรมชาติและสังคม 3) หลักการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น 4) หลักความเป็นธรรม ที่ประชาชน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการคุ้มครอง สนับสนุนสิทธิประชาชนและชุมชน ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในวิถีสังคม ได้รับการชดเชย และการคุ้มครอง มีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องสิทธิ 5) หลักเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ใช้กลไกตลาด ตามมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส โดยไม่เอาเรื่อง Net Zero การชดเชยคาร์บอน ตลาดคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสคส. จะติดตาม ตรวจสอบ และขับเคลื่อนให้ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในระดับสากลและระดับประเทศทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤติโลกรวน และเปลี่ยนผ่านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นเหตุและผลของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมให้เร็วที่สุด
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) เป็นเครือข่ายประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรกว่า 180 องค์กรจากทั่วประเทศ สคส.ได้ติดตาม เสนอแนะ และขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอด ทั้งในแกนหลักจัดเวที COP28 ภาคประชาชนที่มีการจัดทำข้อเสนอนโยบายของประชาชนต่อสหประชาชาติและรัฐบาลไทยให้มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และยื่นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
สคส.วิเคราะห์ว่าสถานการณ์นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับโลกและประเทศไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ของโลกและของประเทศที่ไม่ต้องการรับผิดชอบลดการปล่อยคาร์บอนด้วยตนเองอย่างจริงจัง แต่ใช้การ “ฟอกเขียว” จากแนวทางการชดเชยคาร์บอน (Carbon offset) ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (Net Zero) กลไกตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตมาชดเชย ทั้งที่กลไกดังกล่าวไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามกล่าวอ้าง และยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคง แย่งยึดทรัพยากรของชุมชน เพื่อมาฟอกเขียวให้ทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้นไป
ประเทศไทยเองก็อยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายยิ่ง ในด้านหนึ่งประเทศไทยเสี่ยงต่อสภาวะโลกร้อนเป็นอันดับ 9 ของโลก และผู้ที่เสี่ยงมากคือที่สุดคือ คนจนทั้งในชนบทและเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และในอีกด้านประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ประเทศไทยจึงอยู่ทั้งในฐานะเสี่ยงและในฐานะต้องรับผิดชอบต่อโลกไปพร้อมกัน แต่แนวนโยบายระดับโลกและของรัฐไทยในขณะนี้กลับมุ่งแต่สนับสนุนกลุ่มทุนเพื่อการค้า การลงทุนให้ปรับตัวในเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้กลไกตลาดคาร์บอนที่เอื้อกลุ่มทุน เช่น รัฐเตรียมผลักดันร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อส่งเสริมตลาดคาร์บอนของกลุ่มทุน กำหนดแผนเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ที่ล่าช้าและไม่รับผิดชอบต่อโลก ทั้งที่ควรเปลี่ยนโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด พร้อมกับมีระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านสังคม ชุมชนให้มีภูมิคุ้มกันรับมือต่อสภาวะโลกรวนที่รุนแรงขึ้น
สคส.จึงยืนยันว่าแนวนโยบายของสหประชาชาติและรัฐไทยต้องอยู่บนหลักการ 1) สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และความเป็นธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ความรับผิดชอบที่แตกต่างต่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้เท่าทันสถานการณ์วิกฤติของโลก โดยเป็นหลักความรับผิดชอบที่แตกต่างที่ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ต้องลดและเลิกปล่อยคาร์บอนตามสัดส่วนของการปล่อย และรับผิดชอบต่อความเสียหาย สูญเสียของธรรมชาติและสังคม 3) หลักการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น 4) หลักความเป็นธรรม ที่ประชาชน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการคุ้มครอง สนับสนุนสิทธิประชาชนและชุมชน ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในวิถีสังคม ได้รับการชดเชย และการคุ้มครอง มีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องสิทธิ 5) หลักเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ใช้กลไกตลาด ตามมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส โดยไม่เอาเรื่อง Net Zero การชดเชยคาร์บอน ตลาดคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตอย่างสิ้นเชิง
ถึงขณะนี้ ที่กำลังการประชุมประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เวียนมาเป็นครั้งที่ 29 (COP29) ที่เมืองบากู ประเทศอาร์เซอไบจัน โดยการประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องนโยบายการเงิน เป้าหมายเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มการจ่ายเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนา และกำลังจะผลักดันเรื่องกลไกตลาดคาร์บอนที่เป็นประเด็นที่ สคส.ปฏิเสธมาโดยตลอด สคส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อที่ประชุม COP 29 ดังต่อไปนี้
- ต้องกำหนดเป้าหมายการเลิก (Phase out) พลังงานฟอสซิลให้ชัดเจนภายในปี 2030 อันไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล (IPCC) ที่ประเทศทั่วโลกต้องลดก๊าซเรือนกระจกภายให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2030
- ต้องกำหนดกรอบความรับผิดชอบทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วมีต่อประเทศกำลังพัฒนาให้ก้าวหน้า ด้วยการเพิ่มงบฯ ความรับผิดชอบเป็น 5 แสนล้านเหรียญฯ ต่อปี และต้องเป็นเงินให้เปล่า โดยกลไกการจัดสรรงบฯ ต้องมีหลักประกันให้ชุมชนท้องถิ่น คนจนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
- ต้องยุติแนวนโยบาย Net Zero การชดเชยคาร์บอน การใช้กลไกตลาดคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตทั้งหมด เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถลดคาร์บอน แต่ทำลายนิเวศ ชุมชน และฟอกเขียวให้กลุ่มทุน และใช้แนวทางลดก๊าซเรือนกระจกนอกกลไกตลาด ตามมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีสเป็นแนวทางหลัก
- ต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมของการคุ้มครอง ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นทั่วโลกให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันปรับตัว และการจัดการนิเวศให้ยั่งยืนและเป็นธรรม ตามที่สหประชาชาติยืนยันถึงความสำคัญดังกล่าวตลอดมา
- ต้องเปิดพื้นที่ คุ้มครองการมีส่วนร่วม และสนับสนุนให้ประชาชน ประชาสังคมโดยเฉพาะประเทศซีกโลกใต้ และคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายทั้งการประชุม COP และหลังการประชุม
ในส่วนรัฐบาลไทย ที่กำลังกำหนดนโยบาย กฏหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผิดทาง โดยไม่มีหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่รับผิดชอบต่อโลกอย่างเพียงพอ ไม่มีทิศทางการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศจากการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาความเข้มแข็งชุมชน ยังคงเน้นระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐ ขาดการรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีระบบ กลไกด้านการคุ้มครองสิทธิประชาชน ด้านการเงิน และอื่น ๆ แต่กลับมุ่งคุ้มครอง ส่งเสริมกลุ่มทุนในการค้า การลงทุน ในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยกลไกตลาดที่กำลังเกิดการฟอกเขียว ทำลายนิเวศ ละเมิดสิทธิชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดรัฐบาลกำลังจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่บนหลักการและแนวทางที่ผิดพลาดและจะนำมาสู่ความเสียหายทางนิเวศและสังคม และความขัดแย้งกับประชาชน
สคส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและรัฐสภาดังต่อไปนี้
- ปรับรื้อร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใหม่ทั้งหมด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างใหม่ บนหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
- มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เอาจริงเอาจังกว่าเป้าหมายเดิม
- มีโครงสร้างที่กระจายอำนาจสู่สังคมและชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง (ไม่ใช่แค่เพิ่มตัวแทนประชาสังคม 1 คนโดยการรับรองของ ครม.ตามร่างฯ)
- มีระบบความรับผิดชอบที่แตกต่างที่ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ต้องรับผิดชอบลดก๊าซฯ ของตนเองโดยไม่ใช้การชดเชยคาร์บอนด้วยแนวทางใด ๆ และรับผิดชอบต่อผลกระทบ ความเสียหายที่ประเทศและประชาชนได้รับจากสภาพภูมิอากาศ
- มีกองทุนที่มีหลักประกันที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพียงพอสำหรับการปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือสภาวะโลกรวนได้อย่างมั่นคง
- ยกเลิกระบบตลาดคาร์บอน การซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade) และคาร์บอนเครดิตทั้งหมด แต่ใช้กลไกลดก๊าซฯ นอกกลไกตลาด ตามมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส
โดยทั้งนี้ให้รัฐบาลยุติการผลักดันนำร่าง พรบ.ฯ ที่มีปัญหาขณะนี้ และให้เกิดกระบวนการยกร่างใหม่บนหลักการสิทธิและความเป็นธรรม และกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จนเกิดการยอมรับร่วมกัน
- ปรับแผนเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ให้รับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น ยกเลิกการจัดทำแผนแบบคาดการณ์อนาคต (BAU) ที่เกินจริง แต่ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกจากปีฐานในปัจจุบัน ใช้แนวทาง Real Zero ในภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก เช่น ภาคพลังงาน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ขึ้นไปในปี 2030 ด้วยการเน้นการยกเลิกพลังงานฟอสซิล แทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยไม่ใช้แนวทางชดเชยคาร์บอน และตลาดคาร์บอน เพื่อให้ประเทศไทยลดฐานะจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปัจจุบันเป็นอันดับที่ 20 ของโลก
- ปรับกระบวนการจัดทำแผนการปรับตัวสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการจัดทำแผน การจัดสรรงบประมาณ การมีกลไกคุ้มครอง ส่งเสริมระดับชุมชนฐานราก ด้วยการสนับสนุนข้อมูล ทรัพยากร เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันการปรับตัวที่เท่าทันผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสถานะปัจจุบันที่ประเทศเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลกต่อผลกระทบสภาพภูมิอากาศ
- ปรับรื้อแผนนโยบายพลังงานต่าง ๆ ได้แก่ แผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2024) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2024) เป็นต้น ให้มีทิศทางหลักมุ่งเลิกพลังงานฟอสซิลภายในปี 2035 แทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน ปรับลดพลังไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับร้อยะ 15 ปรับโครงสร้างพลังงานให้มีธรรมาภิบาล โดยเน้นการกระจายอำนาจสู่สังคมและชุมชน ส่งเสริมการเข้าถึง การผลิต การจำหน่ายพลังงานหมุนเวียนของประชาชน ไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทบทวนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่ทำลายนิเวศและชุมชน และสร้างเศรษฐกิจพลังงานสีเขียวของประเทศ ประชาชนให้มีความมั่นคง
- เรียกร้องให้รัฐสภา จัดตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วมระหว่างรัฐสภากับประชาชนในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นกลไกร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะต่อรัฐบาลและสาธารณะ
สคส.ยืนยันที่จะติดตาม ตรวจสอบ และขับเคลื่อนให้ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในระดับสากลและระดับประเทศทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤติโลกรวน และเปลี่ยนผ่านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นเหตุและผลของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมให้เร็วที่สุด