เครือข่ายประชาชนความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (คธอ.) ภาคเหนือตอนล่าง เปิดจุดลงชื่อหนุน (ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ…. (ฉบับประชาชน) 10,000 รายชื่อ ณ บริเวณถนนคนเดินพิษณุโลก ในวันที่ 27 กรกฏาคม 2567 นี้ โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจสู่ประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างสมัขชาประชาสังคมเป็นกลไกเสริมความเข้มแข็งประชาชนและมีส่วนร่วมด้านนโยบายในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change
โลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ร้อน แล้ง น้ำท่วม ส่งผลต่อชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เด็ก แรงงาน คนจนเมือง ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นคือผลพวงจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในอดีตจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และประเทศพัฒนา ที่ตักตวงผลประโยชน์เพื่อการเติบโตมั่งคั่ง ด้านเศรษฐกิจ และสามารถอยู่ได้ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียและเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก (อ้างอิงข้อมูล Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เรากำหนดไม่ได้
การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันยังถูกผูกขาดในการจัดการโดย กลุ่มทุนที่มีเบื้องหลังการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ, กลุ่มนักวิชาการ, หน่วยงานราชการภายใต้การบีบบังคับผ่านข้อตกลงที่ถูกกำหนดโดยประเทศพัฒนา คือความไม่เป็นธรรมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการผลักดันการแก้ปัญหา สู่การค้าขายโลกร้อน สู่การใช้กลไกการตลาด การฟอกเขียว เป็นการผลักภาระให้สังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนผู้อยู่ชายขอบของสังคม ที่เข้าไม่ถึงทุน ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การสร้างความเป็นธรรมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งระดับพื้นที่, ระดับนโยบายและระดับสากล, ตัวแทนสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน, Climate Watch Thailand และภาคี 25 คน ได้ริเริ่มระดมลายมือชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ “กฎหมายโลกร้อนภาคประชาชน”
จึงขอเรียนเชิญท่าน องค์กรของท่าน ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อเสนอ (ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ…. และร่วมกันสื่อสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ต่อสังคม
ในส่วนของภาคเหนือตอนล่างมีตัวแทนผู้ริเริ่ม เชิญชวนลงลายมือชื่อ
1. นายสาคร สงมา 081 675 1835 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
2. นายสินชัย บุญอาจ 081 898 3178 รองประธานที่ประชุมชาติ สภาองค์กรชุมชนตำบล
โดยในวันที่ วันที่ 27 ก.ค. 67 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จะมีการเปิดจุดลงชื่อ หนุนกฎหมาย (ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ…. บริเวณถนนคนเดินพิษณุโลก
โดย (ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ…. ฉบับประชาชนดังกล่าวมีเจตนารมณ์ดังนี้
- สร้างความเป็นธรรมในการรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน
- มีหลักประกันเรื่องการคุ้มครองป้องกันความสูญเสียและเสียหายและสร้างการปรับตัวของประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ
- ปฏิเสธระบบตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตที่นำไปสู่การฟอกเขียว โดยใช้เรื่องภาษีคาร์บอนภายใต้การกำหนดเพดานจำกัดของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ ( cap and tax)
- และต้องเป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจสู่ประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างสมัขชาประชาสังคมเป็นกลไกเสริมความเข้มแข็งประชาชนและมีส่วนร่วมด้านนโยบาย