Skip to content
Home » Article » การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ทำไมต้องกระจายอำนาจ

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ทำไมต้องกระจายอำนาจ

โดย ตาล วรรณกูล
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก
ภายใต้การดำเนินงานโดย สมาคมนิเวศยั่งยืน

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ผู้คนในเอเชียทั้ง 13 ประเทศที่มีช้างป่าเอเชีย เช่น อินเดีย จีน พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และประเทศไทย ฯ ต่างได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่ออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เนื่องจากช้างป่าเข้ามาหากินและทำลายพืชผลทางการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด ทุเรียน กล้วย ฯลฯ และยังส่งผลให้ประชาชนในบางพื้นที่เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าออกไปเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

          นอกจากนี้ปรากฏการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังส่งผลให้ช้างป่าถูกตอบโต้กลับ จนช้างป่าบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การวางยาพิษในผลไม้ การยิงตอบโต้ ช้างป่าไฟฟ้าช็อตจากรั้วไฟฟ้า ฯ ซึ่งยิ่งเป็นตัวเร่งให้สถานภาพประชากรช้างป่าเอเชียที่ยังอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มีแนวโน้มลดลงเกือบทุกประเทศในทวีปเอเชีย ผลจากความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างทำให้มีคนเสียชีวิตจากช้างป่าในเอเชียกว่า 600 คน และช้างตายมากกว่า 450 ตัว ในแต่ละปี ขณะที่ประเทศไทยนับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2566 พบเหตุการณ์คนกับช้างป่าบาดเจ็บและเสียชีวิต 198 และ 173 เหตุการณ์ตามลำดับ จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และเกิดการเรียกร้องสิทธิในการป้องกันดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าแห่งชาติ เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับชาติขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลกลางกลับไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน อีกทั้งมักจะมองปัญหาของท้องถิ่นจากมุมมอง “ของคนที่อยู่ห่างไกล” โดยขาดความเข้าใจว่าท้องถิ่นต้องการอะไร และการแก้ไขปัญหาเหมาะสมกับท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่า

          ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า จึงต้องกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาภายใต้บริบทของตนเองและความเข้าอกเข้าใจประชาชนอย่างใกล้ชิด

แนวคิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมีที่ไปที่มาอย่างไร?

          ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นฤดูแล้งของเดือนเมษายน ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ไปพบกับคุณมานพ สนิท นักพัฒนาเอกชน คุณดวงกมล พูนสวัสดิ์ และคุณบุญเกิน อิ่มเอิบ อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าในตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในตลาดชุมแสง

          ซึ่งเดิมเราถกปัญหากันเรื่องการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำของภาครัฐ ที่พบว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เกิดการช่วงชิงทรัพยากรน้ำระหว่างเอกชนกับประชาชน และอาจส่งผลกระทบไปยังสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก หรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยคุณดวงกมล ได้เล่าให้ถึงปัญหาช้างป่าที่ปรากฏขึ้นในพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำประแสร์ให้พูดเขียนได้รับทราบว่ามันมีผลเชื่อมโยงกันอย่างไร

          “ปริมาณน้ำในป่าเราไม่รู้ว่ามีมากน้อยเท่าไร แต่ที่แน่ ๆ มันถูกดึงออกมาจากป่า และช้างก็อาจจะตามหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่เหมาะสมจนออกมาจากป่าอนุรักษ์อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน และการออกมาจากป่าของช้างก็สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะช้างป่าทำร้ายคนตายได้” ดวงกมล ตั้งข้อสังเกต

          ประเด็นนี้เองที่ทำให้วงสนทนาในค่ำวันนั้นมุ่งไปสู่ประเด็นการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

          ผู้เขียนจึงถามถึงแนวทางในการจัดการปัญหานี้กับผู้ร่วมวงสนทนาทั้งสาม ว่า มันควรจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งคุณมานพ ก็ได้เสนอว่า “มันควรต้องให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น” อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทั้งสองรวมถึงผู้เขียนเองก็เห็นด้วย แต่จะมีกลไกไหนที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งเราใช้เวลาแลกเปลี่ยนกันอยู่นานกว่าสองชั่วโมง จึงสรุปร่วมกันว่า “ต้องกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

มันจึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ผู้เขียนต้องนำกลับมาขบคิดและศึกษาหาแนวทางเพื่อจะกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส้วนท้องถิ่น

ภายใต้การศึกษาความเป็นไปได้ และการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ค. (คุ้มครองคน-ควบคุมช้าง-เคลื่อนร่วมกัน)

          ตลอดระยะเวลาจากปี พ.ศ. 2563 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2567 ข้อเสนอต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นผ่านแนวคิดและหลักการภายใต้ชุดความรู้ที่ร่วมกันกับชุมชนทบทวนความรู้เดิม และผลิตความรู้ใหม่ ๆ ที่เท่าทันต่อสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา จนทำให้ข้อเสนอนโยบาย 3 ค. (คุ้มครองคน-ควบคุมช้าง-เคลื่อนร่วมกัน) ค่อย ๆ ถูกพิจารณาเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ (Implementation) โดยรัฐบาลกลางผ่านหลายกลไก ไม่ว่าจะผ่านกลไกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลไกคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง รวมถึงกลไกทางการเมือง โดยคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งปัจจุบันผู้เขียนก็เข้าไปอยู่ในกลไกนี้เพื่อผลักดันวาระและข้อเสนอด้านการคุ้มครองคนที่ยังมีอุปสรรคทางกฏหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ซึ่งจะต้องทะลุทะลวงไปให้ได้ผ่านสภานิติบัญญัติ

          แต่อย่างไรก็ตามเส้นทางการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามีทั้งความยากง่ายแตกต่างกันไป ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวผู้เขียนต้องลงมาฝังตัวอยู่ในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวให้แหลมคมยิ่งขึ้นไป โดยข้อเสนอที่ผู้เขียนร่วมกับชุมชนและองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาขึ้น เรียกว่า นโยบาย 3 ค. (คุ้มครองคน-ควบคุมช้าง-เคลื่อนร่วมกัน) มีรายละเอียดดังนี้

ค. 1 คุ้มครองคน

          1. พิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี พ.ศ.2564 เนื่องจากกรณีภัยพิบัติจากสัตว์ป่าแตกต่างจากภัยพิบัติทั่วไป จึงไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวกันได้

1.1 ให้แยกประเภทภัยพิบัติสัตว์ป่าออกจากภัยพิบัติทั่วไป แล้วแก้ไขประโยค “พืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้” ออกจากข้อที่ 4.1.1 และให้กำหนดอัตราเงินชดเชยความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรทั้งต้นทุนการผลิตและมูลค่าของผลผลิต โดยคำนวนจากต้นทุนเฉลี่ย ของสำนักงานเศรษฐกิจเกษตรเป็นฐาน รวมกับการคำนวนจากมูลค่าของพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายจริง โดยอ้างอิงจากราคาตลาด ณ เวลานั้น และการกำหนดอัตราเชิงพื้นที่ เปลี่ยนจาก 1-30 ไร่ เป็น เริ่มต้นจาก 1 งาน

1.2 ให้ใช้หลักเกณฑ์วิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและกระทิง ในกรณีบาดเจ็บ และเสียชีวิต ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการนำส่ง การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและรักษาไว้ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแหล่งหากินของสัตว์ป่า หรือเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2566 ตามอำนาจมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 แทนหลักเกณฑ์และระเบียบเดิมที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีมาตรการเยียวยาสภาพจิตใจและความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย

2.  หากพิจารณาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยาก ให้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เป็นการเฉพาะกรณีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า และแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฏหมายเพื่อปลดล็อกการจัดตั้งกองทุนจากงบประมาณหรือจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าให้ถูกต้องตามกฏหมาย และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลกองทุนอย่างโปร่งใสมีหลักธรรมาภิบาล และยกเลิกภัยพิบัติจากสัตว์ป่าออกจากข้อกำหนดภัยพิบัติฉุกเฉินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย

ซึ่งข้อเสนอใน ค.1 นี้ก็เพื่อให้เกิดการสร้างความมั่นคงในชีวิตและความปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงและปลอดภัย เมื่อนั้นการอนุรักษ์ช้างป่าจะจึงประสบผลสำเร็จอย่างเป็นธรรมทั้งต่อตัวช้างป่าและทั้งต่อประชาชน

ค. 2 ควบคุมช้าง

          1. ให้มีการดำเนินการควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้างป่าในกลุ่มป่าตะวันออกให้ลดลงเหลืออย่างน้อย 2-1% โดยการเร่งปรับปรุงระเบียบกฏหมายต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกกระบวนการนำเข้ายาคุมกำเนิด SpayVac-pZP เพื่อดำเนินการทดลองและประเมินประสิทธิภาพและนำมาใช้ควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้างป่า รวมถึงเร่งศึกษาหาแนวทางในการติดตามช้างป่าเพศเมียหลังจากได้รับยาคุมกำเนิดด้วย และต้องเร่งดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี

          2. ให้มีการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เพื่อการรองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ในกลุ่มป่าตะวันออก ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีแนวทางการดำเนินการดังต่อไปนี้

2.1 จัดการทุ่งหญ้าและแหล่งโป่ง กว่า 80% ของพืชอาหารของช้างป่าโดยธรรมชาติคือพืชใบและหญ้า โดยเฉพาะ อ้อ แขม พง และหญ้าชนิดต่าง ๆ ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการระบบนิเวศป่าให้มีสัดส่วนของทุ่งหญ้า 40% ขึ้นไป โดยทำเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย และกระจายไปทั่วพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและรูปแบบการเคลื่อนที่หากินของช้างป่า รวมไปถึงการจัดการทุ่งหญ้าให้มีประสิทธิภาพด้วยการกำจัดหรือควบคุมไม้พุ่มเตี้ยและพืชต่างถิ่น และควรเพิ่มแหล่งโป่งในพื้นที่ทุ่งหญ้าเหล่านั้นด้วย เพื่อจำกัดการค้นหาแหล่งโป่งของช้างป่าให้แคบลง

2.2 จัดการแหล่งน้ำ แหล่งน้ำหมายถึงแผนที่เดินทางสำหรับช้างป่า และเพื่อเป็นการกำหนดแผนที่เดินทางในสมองของช้างป่า รวมถึงการส่งต่อแผนที่ตำแหน่งของแหล่งน้ำไปสู่ช้างป่ารุ่นต่อไป ต้องมีการจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอย่างมีแบบแผนโดยสามารถกำหนดได้ช้างป่าจะสามารถเดินทางไปยังแหล่งน้ำต่าง ๆ เหล่านั้นโดยไม่ออกมารบกวนประชาชนนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

          3. ให้ขยายการจัดตั้งศูนย์กักกันและควบคุมพฤติกรรมช้างป่าในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใน 5 จังหวัดป่ารอยตะภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว เพื่อรองรับการดำเนินการจับช้างป่าเพศผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการสำรวจแหล่งน้ำแหล่งอาหารออกไปไกลจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงเพื่อควบคุมการสืบทอดพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย และพฤติกรรมชักนำช้างป่าตัวอื่น ๆ ตลอดจนฝูงช้างป่าเพศเมียเดินทางออกไปหากินยังแหล่งหากินที่ตัวมันค้นพบ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกมีศูนย์กักกันดังกล่าวอยู่ที่บริเวณ เขาตะกรุบ จ.สระแก้วเพียง 1 แห่ง แต่ขาดการบริหารจัดการและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่นด้วย

ค. 3 เคลื่อนร่วมกัน

          1. ให้มีการกระจายอำนาจการจัดการปัญหาช้างป่าไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่าในท้องถิ่นของตนเองอย่างมียุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการกระจายอำนาจ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องมีหนังสือสั่งการหรือกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางที่ชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ความมั่นใจที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีเพื่อการจัดการปัญหาช้างป่าในท้องถิ่นของตนเอง

2. ให้สร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับจังหวัด และต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา ไม่ว่าจะในรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน โดยต้อง

          2.1 ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมในการศึกษาสถานการณ์ปัญหาและข้อเท็จจริง

          2.2 ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมในการออกแบบ วางแผน และตัดสินใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหา

          2.3 ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหา รับผลประโยชน์ รวมถึงการประเมินและตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหา

          2.4 รัฐต้องมีการสนับสนุนงบประมาณแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมเหล่านั้นด้วย

3. ให้มีการส่งเสริมทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากช้างป่า จากความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหาและชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง โดยรัฐต้องเข้ามาหนุนเสริมกลไกการตลาดที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่า รวมถึงการจัดการแนวทางในการพักชำระหนี้สินชั่วคราวและส่งเสริมการบริหารหนี้สินแก่ประชาชนในพื้นที่ที่พยายามปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อลดผลกระทบ

กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนสำเร็จได้อย่างไร

จากการวิเคราะห์ช่องว่าง (GAP Analysis) ร่วมกันกับชุมชนและองค์กรภาคีเครือข่าย ภายไต้การดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนเพื่อการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก สมาคมนิเวศยั่งยืน สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีข้อจำกัดในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2562 ถึงแม้จะมีแผนการปฏิบัติการดีแค่ไหนก็ตาม เมื่อไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนั้น ก็ไม่สามารถที่จะบรรจุเป็นแผนดำเนินงานได้ ซึ่งก็เสี่ยงเกินไปที่จะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. หรืออาจกระทำผิดต่อ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตวป่าฯ ได้ นอกจากจะมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตาม มาตรา 5 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า พร้อมทั้งมีประกาศจากคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เป็นประกาศราชกิจจานุเบกษาจึงจะสามารถดำเนินงานจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืนได้

ซึ่งจากการค้นคว้าข้อมูลและร่วมกันวิเคราะห์ข้อจำกัดด้านอำนาจของ อปท. ดังกล่าว จึงมีความเห็นร่วมกันให้ดำเนินการยื่นข้อเสนอนโยบายการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อ กกถ. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

          จึงได้ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society), สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการจัดเวทีเสวนาแนวทางการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อการจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยองขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลร่วมกับนักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน และพัฒนากลไกเครือข่ายในระดับท้องถิ่นเพื่อการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการบริหารจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์

และได้เชิญกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยและรับข้อเสนอนโยบายกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับคณะวิจัย และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วภาคตะวันออกจำนวน 52 แห่ง

ผลที่เกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนี้ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตะเกียบเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาความเดือดร้อนจากสัตว์ป่าคุ้มครอง

          โดย 1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ดำเนินการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 2) เพิ่มเติม โดยแต่งตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาล มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เฉพาะการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าคุ้มครองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศแต่งตั้งในราชกิจจานุเบกษา

          2) มติในที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.ก.ถ. เห็นชอบในหลักการร่าง เรื่องการกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน คราวการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 นั้น โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อการกำหนดกิจกรรมของ อบต. หรือ ทต. เพื่อบรรจุในร่างประกาศดังกล่าวดังนี้

1. ดำเนินการศึกษาวิจัยสถานการณ์ปัญหาสัตว์ป่า/ช้างป่าร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาอันจะทำไปสู่แผนการดำเนินงานของท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

2. ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า/ช้างป่าแก่ประชาชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันความเสี่ยงแก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

3. ดำเนินการจัดทำระบบแจ้งเตือนช้างป่าล่วงหน้า (early warning system) แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างสรรค์

4. จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังสัตว์ป่า/ช้างป่าในท้องถิ่น และสนับสนุนสวัสดิการ วัสดุอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังช้างป่า

5. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารสัตว์ป่า/ช้างป่า (war room) และศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสัตว์ป่า/ช้างป่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

6. จัดทำแผนงบประมาณประจำปี เพื่อการดำเนินงานซ่อมบำรุงแนวป้องกันช้างป่า เช่น ถนนตรวจการณ์ รั้วกั้นช้าง และคูกันช้าง เป็นต้น ร่วมกับ อส. (เฉพาะ อปท. ที่มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์)

          วันที่ 12 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ลงนามประกาศ เรื่องการกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567

          จากนั้น พ.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2) เพิ่มเติม โดยแต่งตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาล มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เฉพาะการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าคุ้มครองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

          อย่างไรก็ตามผู้เขียนและคณะ รวมถึงองค์กรภาคีเครือข่ายยังคงทำงานพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า (HWC) ต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อย ๆ ในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ทุก อปท. ในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วประเทศจะถูกยกระดับการจัดการปัญหาทรัพยากรสัตว์ป่าไปสู่ความยั่งยืน