คำประกาศ
การปฏิรูปการจัดการสิ่งแวดล้อม สู่ประชาธิปไตยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุมสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ในวันที่ ๑๗-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ประชุม ได้พิจารณาสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปประเทศ ภาวะประชาธิปไตยและการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นวาระที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญต่อเนื่องมาจากการประชุมสมัชชาฯเมื่อปี ๒๕๕๙ ซึ่งครั้งนั้นได้ร่วมกันกำหนดเจตจำนง การขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้านสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พบว่า แผนการปฏิรูปของรัฐบาลมีการกำหนดวาระการปฏิรูปที่มีความก้าวหน้าไว้หลายประการ แต่ยังไม่มีปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในด้านกลับกันมีการดำเนินการหลายประการที่ขัดแย้งกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การทวงคืนผืนป่าที่กระทบต่อความมั่นคงของการตั้งถิ่นฐาน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การบริหารจัดการน้ำที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์รวมทั้งแม่น้ำระหว่างประเทศ การไม่มีมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่จะลดการใช้สารเคมีการเกษตรเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือการลดการใช้และทิ้งขยะพลาสติก การไม่มีความมุ่งมันที่จะปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอลซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน การลดการปลดปล่อยคาร์บอน ตลอดจนการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการให้นำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไปใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการเกษตรหรือการยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองในกิจการพลังงาน เป็นต้น
หลักการพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระแห่งการพัฒนาของโลกหลังปี ๒๕๕๘ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่คลอบคลุม บูรณาการ และการพัฒนาระดับพื้นที่ ดังนั้นการมีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพ การริเริ่มและพัฒนาของชุมชน การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในวาระ ๔ ปีของการเข้าควบคุมอำนาจรัฐของ คสช.และกำหนดเวลาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในต้นปี ๒๕๖๒ ที่ประชุมสมัชชาฯ สิ่งแวดล้อม เห็นว่า
๑.ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเพิ่มความมุ่งมั่นมากขึ้นในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
๒.ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรมที่มีนิติธรรม การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น คสข.และรัฐบาลจะต้องยุติ ยกเลิกคำสั่งและการกระทำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้
๓.สิทธิในการพัฒนา อันรวมถึงวัฒนธรรมจารีตประเพณีเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจ เพิกถอนได้ รัฐต้องเคารพเจตจำนงการพัฒนาของประชาชนในท้องถิ่น
๔.รัฐ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเป็นผู้นำและต้นแบบการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นสำนักงานราชการทุกสำนักงานต้องเป็นสำนักงานสีเขียว ปลอดขยะ ใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้บริการจากผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเมืองที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบรรลุผลสำเร็จเร็วขึ้น
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯจะรณรงค์อย่างมุ่งมั่นที่จะให้องค์กรสมาชิก องค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ปรับเปลี่ยนสำนักงานและกิจกรรมของตนไปสู่สำนักงานสีเขียวเช่นเดียวกัน
๕.รัฐบาลต้องพัฒนามาตรการทางภาษี และกฎหมายที่จะส่งเสริมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ปล่อยคาร์บอน ผู้ผลิตและใช้พลาสติกหรือโฟมที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะการคิดค่ากำจัดขยะเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต และนำหลักผู้สร้างขยะต้องรับผิดชอบขยะของตนมาใช้
๖.รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมเกษตรปลอดสารพิษ และหยุดการการใช้สารเคมีการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อคนโดยทันที เช่น พาราควอท คลอร์ไพริฟอส ไทลโฟเซต เป็นต้น
๗.รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องยกระดับการบริหารจัดการประมงไปสู่การประมงที่ยั่งยืน ด้วยการมีมาตรการที่เริ่มจากลดไปสู่การเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมาใช้ประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวข้อง
๘.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่และรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียและเสียหาย รัฐต้องสนับสนุนครอบครัว ชุมชน ให้มีศักยภาพในการตั้งรับปรับตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการกำหนดมาตรการ การรับมือ การปรับตัวในระยะยาว และแสวงหาแนวทางช่วยเหลือ “การชดเชย”ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
๙. การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ บนหลักการป่าทุกป่ามีความสำคัญ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต้องทำร่วมกันทุกพื้นที่และทุกภาคส่วน รัฐต้องสร้างระบบการบริหารจัดการพื้นที่ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนร่วมกับชุมชนและภาคีการอนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งมีปัญหาการอยู่ร่วมระหว่างคนกับสัตว์ป่า
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑