Skip to content
Home » Article » ข้อเสนอ: ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรฯโดยกระบวนการมีส่วนร่วม เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอ: ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรฯโดยกระบวนการมีส่วนร่วม เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอ
ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรฯ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม
และแผนงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒

(๑) ขยะบกและขยะทะเล

          ร้อยละ ๘๐ ของขยะทะเลมาจากขยะที่มนุษย์สร้างขึ้นบนบกและระบบการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ  ปัจจุบันไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนเข้าสู่สัตว์น้ำอันเป็นห่วงโซ่ระบบนิเวศน์และอาหารของมนุษย์ เป็นปัญหาสาธารณะที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

          ข้อเสนอ

  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนร่วมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วย ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม
  • แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดขอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลอดขยะ ชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญปลอดขยะ
  • จัดให้มีระบบภาษีการกำจัดขยะตามประเภทและจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาแลกซื้อสินค้าได้ เช่น ขวดน้ำปลาแลกซื้อน้ำปลาขวดใหม่ในราคา ๑-๒ บาท เป็นต้น
  • พัฒนาความร่วมมือกับ ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีก ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน พัฒนาจังหวัดต้นแบบ เพื่อมุ่งสู่สังคมปลอดโฟม และพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  • ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว ปลอดโฟม ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ระบบพลังงานสะอาดก้าวสู่มหาวิทยาลัยคาร์บอนต่ำ

(๒) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

          ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นสภาวะที่โลกต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน ๑.๕ – ๒ องศาเซสเซียส จากอุณหภูมิโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

          ข้อเสนอ

  • ปรับเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศไทยให้แสดงถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อโลก
  • มีมติคณะรัฐมนตรีขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ให้สำนักงานราชการมีระบบแผงแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในเวลาทำการ จัดให้มีมาตรการทางภาษี การสร้างแรงจูงใจ มาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้ภาคเอกชน ภาคครัวเรือน ผลิตไฟฟ้าใช้เองอย่างเป็นขั้นตอน เช่น เริ่มจากไฟฟ้ากลางวัน เป็นต้น
  • จัดทำพื้นที่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพิ่มศักยภาพของครอบครัวและชุมชน เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมีความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้โดยการมีส่วนร่วมของหญิงและชาย
  • พัฒนาแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้หญิง ที่ได้รับผลกระทบและเสี่ยงกับความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนระดับครัวเรือน ชุมชน และเมือง
  • พัฒนาความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับองค์กรภาคประชาสังคมในการเข้าถึงกองทุนภูมิอากาศสีเขียว

(๓) การแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษ

          ปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษในเมืองใหญ่ และภาคเหนือ เป็น ๑ ใน ๕ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของคน การเกิดหมอกควันและฝุ่นพิษมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น อุตสาหกรรม การจราจร เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และมีลักษณะข้ามพรมแดน

          ข้อเสนอ

  • ภาคเหนือ การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการลด ควบคุม การเผา และไฟป่า มีชุมชนต้นแบบจำนวนมากในภาคเหนือที่ดำเนินการประสบความสำเร็จ จึงควรต่อยอดและขยายผล โดยพัฒนาองค์ความรู้ ระบบบริหารจัดการ และจัดให้มีแผนแม่บทของชุมชน รวมทั้งปรับเปลี่ยนมาตรการเชิงบังคับเป็นมาตรการสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
  • ฝุ่นพิษ ลดได้โดยการมีแผนและมาตรการที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมเป็นพลังงานสะอาด  การควบคุมและลดควันเสียจากรถ เปลี่ยนการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและระงับเหตุ
  • แผนรับมือในภาวะวิกฤติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ต้นไม้ในทุกพื้นที่ 
  • พัฒนาความร่วมมือแบบสร้างสรรค์กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษร่วมกัน เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนข้ามพรหมแดน เช่น ความร่วมชุมชนสองฝั่งโขง เป็นต้น
  • จัดให้มีการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้ปลอดจากมลภาวะที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนการปรับระบบการเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับภูมินิเวศท้องถิ่น

(๔) พื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำ

          พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ รวมทั้งแม่น้ำระหว่างประเทศอย่างแม่น้ำโขงและสาละวิน 

          ข้อเสนอ

  • จัดให้มีแผนงานและมาตรการคุ้มครอง อนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และแม่น้ำโดยดำเนินการร่วมกับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • นำมาตรการ การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาใช้ในพื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำที่มีความสำคัญ ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครองและอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราชการ
  • พัฒนาองค์ความรู้และเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน

(๕) ชุมชน คนอยู่กับป่า

          ชุมชนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน มีพื้นที่รูปธรรมจำนวนมากทั้งที่ราชการดำเนินการในลักษณะพื้นที่นำร่องหรือพื้นที่ต้นแบบ โครงการในพระราชดำริ และที่องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมดำเนินการกับชุมชน รวมทั้งชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมอยู่ร่วมกับป่ามาต่อเนื่อง ในอดีตถึงปัจจุบันนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ได้ปฏิเสธการอยู่ร่วมระหว่างคนกับป่า ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และส่งผลในทางลบต่อการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า 

          ป่าชุมชน เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ป่า เพราะชุมชนที่อยู่ใกล้ป่ามีความจำเป็นต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของป่าในการดำรงชีวิต  ชุมชนชนเผ่าในภาคเหนือรักษาป่านับหมื่นไร่เพื่อผลผลิตน้ำผึ้งจากป่า ชุมชนชายฝั่งปกป้องป่าชายเลนเพราะตระหนักในผลจากความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่ได้จากระบบนิเวศน์ที่สมดุล ชุมชนริมแม่น้ำปกป้องป่าบุ่งทาม ป่าพรุ ป่าบึงน้ำจืด ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ข้อเสนอ

  • นโยบายและมาตรการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์บกและชายฝั่ง โดยหลักการคนอยู่กับป่า
  • จัดทำแผนบริหารจัดการระบบนิเวศน์ชุมชน โดยความร่วมมือของชุมชน ส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้อง
  • ปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ให้สอดคล้องกับหลักการคนอยู่กับป่า และสิทธิชุมชน
  • พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ให้สอดคล้องกับหลักการป่าชุมชนคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า
  • ชะลอ และทบทวนการดำเนินการสำรวจและจัดระบบชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ และการดำเนินการตามมาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ และมาตรา ๑๒๑ ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อให้เกิดความรอบครอบและไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • เร่งรัดการดำเนินการตามตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และตามมติคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยง

(๖) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

          ระบบนิเวศน์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีสภาวะที่ดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลด้านการประมงที่ถูกกฎหมาย มีการรายงาน และการควบคุม รวมทั้งการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกลไกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘

ปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย  การรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง การทำประมงของชุมชนชนเผ่าดั้งเดิมเช่น มอแกน มอแกลน อูรักราโว้ย  การขีดเส้นอุทยานแห่งชาติลงไปในทะเลเป็นบริเวณกว้างโดยไม่มีการจำแนกพื้นที่สมควรอนุรักษ์ กับพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ด้านการประมง ทำให้การแล่นเรือผ่านหรือการทำประมงมีความผิดตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ชุมชนชายฝั่งที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ป่าชายเลน  หญ้าทะเล พะยูน เป็นการทำงานบนฐานความร่วมมือกับทางราชการแต่ไม่มีสถานะทางกฎหมายและเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมาย

          ข้อเสนอ

  • พัฒนามาตรการรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยนำพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการ
  • จัดให้มีแผนบริหารจัดการร่วมระหว่างชุมชนและอุทยานแห่งชาติ เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่และมาตรการอนุรักษ์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ทะเลซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ
  • จัดทำแผนงานบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลระดับจังหวัด การประกาศมาตรการคุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งให้คลอบคลุมพื้นที่สำคัญทางทะเล
  • พื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติทางทะเล และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งขีดเส้นลงไปในทะเลควรกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์เฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

(๗) คนกับช้าง และแผนพะยูน

          สังคมไทยได้ร่วมกันอนุรักษ์ช้างป่า และดูแลช้างบ้านมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ช้างบ้านได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นแต่ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาคนกับช้างที่มีทั้งคนทำร้ายช้าง ช้างทำร้ายคน และพืชผลทางการเกษตร การใช้งานช้างบ้านโดยขาดมาตรการดูแลที่เหมาะสม ผลกระทบจากการนำช้างบ้านคืนป่า

          พะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย มีประชากรพะยูนรวมทั้งทะเลไทยไม่เกิน ๒๕๐ ตัว จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอนุรักษ์พะยูนอย่างเร่งด่วนและจริงจังโดยความร่วมมือกับชุมชนชายฝั่งและภาคีที่เกี่ยวข้อง

          ข้อเสนอ

  • จัดทำแผนงานการอยู่ร่วมระหว่างคนกับช้าง เป็นแผนงานระดับพื้นที่ และโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
  • จัดให้มีงบประมาณบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำของช้าง
  • ดำเนินการให้มีแผนงานพะยูนในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเลที่มีพะยูน และแผนพะยูนระดับประเทศ
  • ปรับระบบการทำงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เป็นระบบที่ใช้งบประมาณ กำลังคน ตามภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อทางทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์  เช่น มีงบประมาณเฉพาะเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้  การอนุรักษ์คุ้มครองพะยูน

(๘) การทบทวนและกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับกฎหมายแร่

          ตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างยั่งยืน โดยต้องคํานึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทําเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม ให้ทำแร่เฉพาะที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทแร่ และให้กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกันจัดทําฐานข้อมูลพื้นที่ ที่มีศักยภาพในการทําเหมืองของประเทศ การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจํากัด รวมทั้งความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว เพื่อการทําเหมืองในภาพรวมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทํายุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บท รวมทั้งห้ามทำแร่ในพื้นที่อนุรักษ์ เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม  ประกอบกับการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมใช้มานานกว่า ๒๐ ปี

          ข้อเสนอ

          ควรมีการสำรวจและกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ตามหลักวิชาการปลอดจากอิทธิพลของผู้ประกอบการ

(๙) คดีคนจนและคดีโลกร้อน

          การทวงคืนผืนป่าอันสืบเนื่องมาจากคำสั่ง คสช.ที่ ๖๕/๒๕๕๗ และ ๖๖/๒๕๕๖ ทำให้คนจนหรือผู้ยากไร้ถูกดำเนินคดี และต้องโทษจำคุกจำนวนมาก อันขัดกับแนวทางการทวงคืนผืนป่าที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ยากไร้ และนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่า นอกจากนี้การเรียกค่าเสี่ยหายด้านสิ่งแวดล้อมไร่ละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นการคิดค่าเสียหายที่ชาดหลักวิชาการที่ถูกต้อง ไม่เพียงสร้างปัญหาต่อชาวบ้านแต่ยังทำให้มาตรฐานทางวิชาการของราชการขาดความน่าเชื่อถือ เช่น การเรียกค่าเสียหายที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นโดยคิดจากค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือค่าเสียหายที่ทำให้ฝนตกน้อยลง เป็นต้น

          ข้อเสนอ

  • คดีผู้ยากไร้จากการทวงคืนผืนป่า จัดทำข้อมูลผู้ยากไร้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีและหรือคดีถึงที่สุดแล้ว พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
  • ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมจากคดีป่าไม้ โดยปรับให้อยู่บนฐานข้อมูลทางวิชาการที่เหมาะสม

(๑๐) การสัมมนาวิชาการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมประจำปี

          ในอดีต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ  ส่วนราชการชุมชน และภาคีด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์ พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างความรับรู้ร่วมกันของสังคม เป็นประจำปีต่อเนื่องกัน ซึ่งยังประโยชน์ต่องานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง  การสัมมนาดังกล่าวขาดหายไปกว่า ๑๐ ปี  

ข้อเสนอ ควรจัดการสัมมนาวิชาการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมประจำปี โดยมีประเด็นที่คลอบคลุมงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน บนฐานงานวิชาการ

(๑๑) กองทุนสิ่งแวดล้อม

ปรับระบบการดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อมจากการตั้งรับเป็นการดำเนินงานเชิงรุกอย่างมียุทธศาสตร์ไปให้ถึงชุมชน ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมสีเขียว

(๑๒) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม

          จัดให้มีกลไกหรือกระบวนการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับพื้นที่  ระดับประเด็น และการประสานความร่วมมือในส่วนกลาง

*************************