Skip to content
Home » Article » คนจนกับความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม

คนจนกับความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม

โดย ณัฐนนท์ นาคคง ณัฏฐภัทร์ สมบัติบุญ และธิติพัทธ์ เลิศชัย

          การพัฒนาประเทศเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากร โดยผ่านกระบวนการผลิตและการขนส่งที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญตามมาทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหามลพิษทางอากาศ และอื่น ๆ แต่ผู้ที่ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่คนรวยที่ได้รับผลประโยชน์จาการพัฒนากลับเป็นคนที่ไร้ซึ่งอำนาจและมีฐานะยากจน

          คนจนเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเกษตรกรและแรงงานเกษตรเป็นกลุ่มแรกที่ต้องรับมือกับสภาพอากาศที่คาดไม่ได้ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม โรคชนิดใหม่ และศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือผลผลิตทางการเกษตร

          เกษตรกรนาชะอัง จังหวัดชุมพร

         “ฝนมันตกชุก ตกยาว มาไม่ตรงตามฤดูกาล แล้งก็แล้งยาว ร้อนจนอากาศแห้ง พืชเลยหยุดให้ผลผลิต”

         “ผลกระทบจากปีหนึ่งส่งผลไปยังปีถัด ๆ ไป พืชผลเลยไม่ออกดอก ผลผลิตก็เสียหายหมด”

          ขณะเดียวกันพื้นที่พักอาศัยก็มักอยู่ในพื้นที่เสี่ยง คนในชนบท และชนพื้นเมืองที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ และทะเลในการดำรงชีวิต จึงกลายเป็นด่านหน้าที่ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยทรัพยากรในการรับมือที่ไม่มากมายนัก

          แต่หากเป็นคนจนในเมือง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศร่วมด้วย โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจ นำไปสู่การป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจได้ เนื่องจากคนจนต้องทำงานหาเช้ากินค่ำและอยู่นอกอาคาร หลายคนไร้เครื่องป้องกัน บ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ และเงินที่ได้จากการทำงานเพียงพอแค่ประทังชีวิต ทำให้มีทางเลือกในการรับมืออย่างจำกัด

          ไรเดอร์ส่งอาหารย่านรังสิต

          “ตอนทำงานผมต้องใส่แมสก์ 3 ชั้น ใส่เสื้อ 3 ชั้น ถึงจะสู้แดด สู้ฝุ่นได้”

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิมรุนแรงขึ้น ผลพวงจากนโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ “ขาดการพิจารณาผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนา” โดยปล่อยให้มีช่องว่างทางกฎหมายที่เบิกทางให้กิจการโรงงานของเอกชน เช่น พ.ร.บ สิ่งแวดล้อมปี 2535 ที่กำหนดให้มีมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด แต่การกำหนดมาตรฐานก็ยังไม่มีความชัดเจนมากพอ

          “การกระจายผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน” ทำให้คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ แต่คนอีกกลุ่มไม่ได้ผลประโยชน์ เช่น เขื่อนแม่น้ำโขง ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสร้างผลประโยชน์ให้กับนักลงทุน แต่ส่งผลกระทบทั้งในมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงตลอดสายน้ำ โดยเฉพาะกับชุมชนของชนพื้นเมืองริมฝั่งโขงในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อาทิ ความผันผวนขึ้นลงของระดับน้ำ ความเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบนิเวศ การสูญเสียที่ดินทำกินและความไม่มั่นคงทางอาหาร

          และ “คนในสังคมขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายมองเห็นเพียงแต่ผลกระทบเชิงบวกต่อภาพรวมของประเทศ โดยลืมคำนึงผลกระทบต่อเชิงลบที่คนจนต้องแบกรับ จึงเกิดกลไกที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก

          1) คนจนรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ในระดับต่ำ
          2) คนจนอาจไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ
          3) คนจนได้รับการคุ้มครองระดับต่ำเมื่อได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

          คนจนรับมือปัญหาแต่ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ งานวิจัยหลายสำนักชี้ตรงกันว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากการลงทุนและการคมนาคมของคนรวย ที่คนจนไม่อาจเข้าถึงได้ แต่การหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคนรวยก็มีมากขึ้น เช่น ในกลุ่มคนรวยฝั่งเอเชียที่ยินดีจ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะซื้อหรืออุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

          กลับกันในกลุ่มชนชั้นกลางและคนจนมักพูดถึงการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมด้วยการหันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก แยกขยะ และลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

          แม่ค้าสูงอายุย่านรังสิต

          “จะจัดการปัญหายังไงน่ะเหรอ ก็ต้องเริ่มจากตัวเอง อย่างตัวฉันเนี่ยก็แยกขยะ”

ไม่ว่าคนจนจะพยายามสร้างความยั่งยืนมากเท่าใด แต่ถ้าไม่มีแรงจูงใจให้คนรวยลดการใช้พลังงาน เช่น การเก็บภาษีด้านพลังงานที่แพงขึ้น คนรวยก็จะไม่ลดการใช้พลังงานลง 

          แม้คนจนเป็นกลุ่มคนที่สร้างมลพิษน้อยและไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการกระทำของกลุ่มคนที่ร่ำรวยกว่า ถึงจะมีคนรวยหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าใด แต่หากยังไม่หยุดอุตสาหกรรมที่เกินจำเป็น จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น มีพายุรุนแรง ภัยแล้งสาหัส น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ อาหารขาดแคลน สุขภาพคนแย่ลง และปริมาณคนจนก็จะเพิ่มมากขึ้น เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างไม่รู้จบ


รายการอ้างอิง

จักรพงศ์ คงกล่ำ. (2563). ยิ่งพัฒนายิ่งเหลื่อมล้ำ การพัฒนาที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้าน
          สิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก http://salforest.com/blog/inequality-of-environment-impact

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.). (2566). กลุ่มเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.
          สืบค้นจาก https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/45075

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร. (2565). พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535.

          สืบค้นจาก https://www.bsa.or.th/กฎหมาย/พระราชบัญญัติ-ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม     แห่งชาติ-พศ-๒๕๓๕.html