Skip to content
Home » Article » ประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการสนับสนุนปฏิบัติการเริ่มต้นกรอบความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการสนับสนุนปฏิบัติการเริ่มต้นกรอบความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

เมื่อวาน (20 กรกฎาคม 66) ผม-กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (สคส.) ในฐานะผู้แทนประธานได้ถูกเชิญจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เข้าประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการสนับสนุนปฏิบัติการเริ่มต้นกรอบความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework Early Action Support) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สผ.กับ UNDP โดยประธาน สคส.ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการกำกับโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น Global Compact และอื่น ๆ ที่โรงแรมพูลแมน คิงส์เพาเวอร์

สาระหลัก ๆ ของการประชุมเป็นเรื่องกรอบการดำเนินการโครงการ เช่น ขอบเขตเนื้อหา หน่วยงานที่จะร่วม ช่วงเวลา และอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องการบริหารจัดการ โดยที่ประชุมให้ความสนใจไปที่กรอบแนวการจัดการพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายชีวภาพอื่นๆ (นอกพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ) หรือ OECMS (Other Effective Conserve Mechnisms) เรื่อง Bio Taxonomy ที่เป็นกระแสสนใจของภาคเอกชน ซึ่งอยากเข้ามามีบทบาทในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเชิงเทคนิค

ผมจึงได้ให้ข้อคิดเห็นว่า กรอบโครงการฯ ดังกล่าวค่อนข้างแคบมาก เมื่อเปรียบเทียบกับข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล จากเวที COP15 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดรวมทั้งประเทศไทยได้ลงนาม

เพราะหากพิจารณาจากกรอบคุนหมิง-มอนทรีออล หลักการมีความกว้างขวาง โดยยืนยันหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เพศสภาวะ เนื่องด้วยหลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นแก่นสำคัญที่ทำให้เป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบรรลุผล ไม่ใช่ต้องเลือก หรือประนีประนอมระหว่างสิทธิมนุษย์กับธรรมชาติ ดังกรอบคิดแบบเก่า แต่โครงการฯ นี้ที่อ้างดำเนินตามกรอบคุนหมิง-มอนทรีออลกลับไม่ปรากฏหลักสำคัญดังกล่าว

เริ่มตั้งแต่ การยอมรับ และคุ้มครองสิทธิชนพื้นเมือง และสิทธิชุมชนท้องถิ่น ทั้งสิทธิต่อนิเวศ สิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในทรัพยากรชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ สิทธิในวิถีประเพณี สิทธิในผืนดินและเขตแดนของชนพื้นเมืองและชุมชน สิทธิในการได้รับแจ้งขอยินยอมล่วงหน้าจากการเข้าถึงทรัพยากชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิในการได้รับแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม และสิทธิในการมีส่วนร่วมนโยบายทุกระดับ เพราะเหตุที่สหประชาชาติยอมรับแล้วว่า ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ดังปรากฏในงานศึกษาของสหประชาชาติเองว่า ร้อยละ 80 พื้นที่ที่ความหลากหลายชีวภาพของโลก เกิดจากการดูแลจัดการของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นเองข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล จึงยืนยันสิทธิชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในเกือบทุกเป้าหมาย

หากแต่ประเด็นดังกล่าว กลับถูกโต้แย้งจากนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ประธานในที่ประชุมว่า กรอบกฎหมายไทยไม่ยอมรับชนพื้นเมือง มีแต่กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งทางผมก็ได้ชี้ว่า เรากำลังหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ชาวเล และอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังมีร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่เตรียมเข้าสู่สภา ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกพวกเขาว่าอะไรก็ตาม เราหมายถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ตลอดจนถึงชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อยู่กับนิเวศ ฐานทรัพยากรอีกด้วย

เรื่อง การป้องกัน ประเมิน ตรวจสอบ ควบคุมความเสี่ยงหายนะความหลากหลายทางชีวภาพ จากโครงการ ของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม หรือเรื่องการลด เลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีเกษตรที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่บรรจุในข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล แต่โครงการฯ ก็ไม่ได้มีสาระสำคัญแต่ประการใด ขณะที่ภาคเอกชนที่ร่วมประชุม รวมถึงที่ประชุมทั้งหมดก็กล่าวแต่เพียงบทบาทความสนใจของภาคเอกชนที่จะร่วมในนโยบาย แผนความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องการดึงงบฯ จากแหล่งทุน แต่ไม่กล่าวถึงจะป้องกัน จัดการกับธุรกิจที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญ ๆ อย่างไร เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน กิจการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ทรัพยากรชีวภาพไม่ได้มีเฉพาะในระบบนิเวศธรรมชาติ ในภาคอาหาร เกษตร สมุนไพร ก็มีความสำคัญมาก โครงการฯ ไม่ได้กล่าวถึง การส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุกรรม ทรัพยากรชีวภาพทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพชีวภาพ การสร้างสุขภาพจากสมุนไพร ทรัพยากรชีวภาพ และอื่น ๆ

แต่ข้อเสนอต่อกรอบโครงการฯ ดังกล่าวนี้ ก็ถูกประธานกล่าวตอบแต่เพียงว่า ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของโครงการฯ ในปีนี้

ประธานที่ประชุม ยังคาดหวังให้ สคส.มีบทบาทร่วมผลักดันเรื่อง การขยายพื้นที่คุ้มครองชีวภาพ 30×30 (ทางบก และทะเล) โดยเฉพาะ OECMs ซึ่งหากเป็นพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ ชุมชนก็ต้องขออนุญาตและได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานป่าไม้ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนในพื้นที่่ป่าไม้

นอกจากนี้ โครงการ Bio Finance ที่ UNDP ร่วมก่อตั้ง ก็เปรยเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ เช่น Biodiversity Credit (เช่นเดียวกับ Carbon Credit ซึ่งถูกวิจารณ์จากประชาสังคมว่าเป็นเครื่องมือฟอกเขียว)

กล่าวโดยสรุป ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ได้เลือกตีกรอบการดำเนินการโครงการภายใต้ข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล ให้เหลือเพียงความหลากหลายชีวภาพในมิติการคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ได้เอาหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิชนพื้นเมือง สิทธิชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแก่นสำคัญของความตกลงฯ ไม่ได้มีแนวทางสร้างเครื่องมือกำกับการสร้างผลกระทบของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่ชีวภาพบกและทะเล 30×30 การเพิ่มพื้นที่ชีวภาพอื่น ๆ นอกป่าของรัฐ (OECMs) ก็ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน และอาจมีแนวโน้มเปิดทางให้เกิดการฟอกเขียวด้วยการชดเชยความหลากหลายชีวภาพ (Biodiversity Offest) และ Biodiversity Credit โดยไม่ระวังเสียงวิพากษ์ที่เคยมีต่อคาร์บอนเครดิต การขับเคลื่อนโครงการฯ เหล่านี้ดำเนินไปด้วยบทบาท UNDP ราชการ ภาคเอกชน ที่สนใจทำโครงการ ได้งบประมาณ ไม่ปรากฏความห่วงใยต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคมที่มีปัญหารุนแรง เช่น การปิดล้อมชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำลายระบบไร่หมุนเวียนที่สร้างสรรค์ความหลากหลายชีวภาพสูงของชาวกะเหรี่ยง ไม่เห็นนัยสิทธิของชาวเลที่กำลังถูกไล่ยึดที่ทำลายชีวภาพ ไม่เห็นปัญหาเขื่อนในแม่น้ำโขงที่กำลังทำลายความหลากหลายชีวภาพสูงที่สุดของโลก ไม่เห็นท้องทะเล แม่น้ำ ระบบนิเวศต่าง ๆ ที่กำลังจะตายจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่กำลังจะมาทำโครงการอนุรักษ์ชีวภาพ! ไม่เห็นความคิดในเชิงโครงสร้างของปัญหา

ขณะที่ภาคชุมชนถูกวางบทบาทเป็นพื้นที่เป้าหมาย แต่ไม่ได้รับรองสิทธิ ส่วนภาคประชาสังคมก็ถูกตีกรอบให้เป็นส่วนสนับสนุนโครงการเหล่านี้ ซึ่ง สคส.คงต้องทบทวนว่าจะร่วมในโครงการหรือไม่

เมื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องของประชาชน สคส.จะเชิญชวนประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำงานสิทธิชุมชนทรัพยากร ความมั่นคงอาหาร นิเวศเกษตร แพทย์ทางเลือก เศรษฐกิจชีวภาพ จึงมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปทิศทางความหลากหลายทางชีวภาพให้มีฐานสิทธิมนุษยชนในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ประชาชนต่อการเข้าถึง จัดการ ดูแลรักษา พัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างบูรณาการ และการสร้างระบบป้องกัน กำกับนโยบายรัฐ กิจกรรมของกลุ่มทุนให้เกิดความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งประชาชน