Skip to content
Home » Article » ข้อเสนอสิทธิในสิ่งแวดล้อมในกฎหมายและนโยบายสาธารณะ

ข้อเสนอสิทธิในสิ่งแวดล้อมในกฎหมายและนโยบายสาธารณะ

กฤษฎา บุญชัย
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)

ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์ และสรรพชีวิตขั้นรุนแรง เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความเสื่อมโทรมความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1954 และข้อตกลงสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจและสังคมยังไม่ได้กำหนดสิทธิในสิ่งแวดล้อมในฐานะสิทธิมนุษยชนไว้ให้ชัดเจน ดังนั้นในปี 2022 สหประชาชาติจึงได้มีความตกลงสิทธิมนุษยชนต่อความยั่งยืน สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมที่ดี

          ในส่วนนโยบายของรัฐ รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 จนถึงปัจจุบันได้กำหนดหลักสิทธิในสิ่งแวดล้อม และมีพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 แต่กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีฐานคิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงกฎหมายด้านทรัพยากร เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายจัดการน้ำ กฎหมายแร่ กฎหมายประมง และอื่น ๆ ยังไม่ได้กำหนดสิทธิในสิ่งแวดล้อมไว้ แต่ก็มีร่างกฎหมายใหม่ เช่น ร่าง พรบ.อากาศสะอาด ร่าง พรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่บัญญัติหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมไว้ แต่ก็มีร่างกฎหมายที่สำคัญที่จะออกมา เช่น ร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่าง พรบ. ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ยังขาดการกำหนดสิทธิในสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน

          ดังนั้น เพื่อเป็นการทำให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจน สอดคล้องกับกับปัญหาและสภาพชีวิตของประชาชน สมัชชาฯ จึงได้ประมวลบทเรียนการขับเคลื่อนปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายของประชาสังคม ออกมาเป็นข้อเสนอเบื้องต้นต่อหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมดังต่อไปนี้

  1. สิทธิมนุษยชนที่จะดำรงชีพอย่างมั่นคง มีศักดิ์ศรี ซึ่งการมีนิเวศสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรที่ดีเป็นส่วนสำคัญของการดำรงชีพที่ดี
  2. สิทธิต่อธรรมชาติ เนื่องจากธรรมชาติคือชีวิตร่วมของมนุษย์และสรรพชีวิตในโลก ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิในการปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อมไม่ว่าระดับไหน โดยไม่มีการจำกัดขอบเขต
  3. สิทธิของธรรมชาติ คือ ธรรมชาติมีฐานะเป็นองค์ประธานสิทธิ โดยที่ประชาชนทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องสิทธิให้ธรรมชาติ

          สิทธิในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ และสิทธิในวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ ที่มีวัฒนธรรมนิเวศ ดังนั้น สถานะสิทธิในสิ่งแวดล้อมจึงมีอยู่แล้ว แม้จะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองก็ตาม

          การมีกฎหมายคุ้มครอง จึงเป็นการรับรอง ส่งเสริม และสร้างความชัดเจนให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ควรอ้างกฎหมายที่มีอยู่ หรืออ้างการยังไม่มีกฎหมายมาละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิทธิทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของประชาชนได้

  1. สิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม สุขภาพเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา และการเมือง ดังนั้นสิทธิในสิ่งแวดล้อมจึงโยงไปถึงสิทธิวัฒนธรรม สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา และการเมืองด้วย
  2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่กระทบเชื่อมโยงกว้างขวาง ก้าวข้ามขอบเขตพรมแดน และอาจไม่ได้มีผู้ละเมิดสิทธิฝ่ายเดียว หรือไม่ปรากฏผู้ละเมิดชัดเจน ดังนั้นการปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมจึงเน้นหลักป้องกันไว้ ทุกผู้คนเป็นผู้เสียหายหรือถูกละเมิดสิทธิที่สามารถปกป้องสิทธิได้ และไม่จำกัดขอบเขตการปกครอง ประเทศ
  3. สิทธิในสิ่งแวดล้อมมีทั้งเชิงรับ คือ ป้องกันการทำลายนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเชิงรุก คือมีสิทธิในการดูแล จัดการสิ่งแวดล้อมของสาธารณะให้ดีขึ้น
  4. หน่วยของสิทธิ เป็นทั้งสิทธิปัจเจก สิทธิชุมชน สิทธิสาธารณะ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความสัมพันธ์กับนิเวศ สิ่งแวดล้อม ลำดับขั้นของสิทธิขึ้นอยู่กับ
    • สิทธิที่จะอยู่รอดดำรงชีพในสิ่งแวดล้อม
    • สิทธิในการเป็นผู้อยู่ ผูกพันกับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
    • สิทธิจากการเป็นผู้ดูแลนิเวศทรัพยากรทางตรง
    • สิทธิในการใช้ประโยชน์จากนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ – สิทธิในขั้นหลัง ๆ ไม่สามารถไปละเมิดสิทธิในขั้นแรก ๆ ได้
– สิทธิประเภทต่าง ๆ สามารถมาจัดการนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมร่วมกัน (co-management)

5. หลักของสิทธิจะสัมพันธ์กับความเป็นธรรมทางสังคมและนิเวศ โดยมุ่งปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมคนชายขอบ คนเปราะบางจากผลกระทบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ให้มีขีดความสามารถเข้าถึง จัดการ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นธรรมทางสังคม พร้อมกับไปความเป็นธรรมทางนิเวศ คือ การดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของนิเวศโดยไม่ถูกมนุษย์รบกวน ทำลาย

6. สิทธิในสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดเฉพาะปัจจุบัน แต่ต้องคุ้มครองไปถึงสิทธิของคนรุ่นต่อไปที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

แบ่งออกเป็น

  1. สิทธิของชุมชน ประชาชน ที่จะมีนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่ดี
  2. สิทธิที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
  3. สิทธิในการปกป้องนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
  4. สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
  5. สิทธิในการรับรู้ มีส่วนร่วม กำหนดนโยบาย หรือปฏิเสธนโยบาย โครงการที่มากระทบต่อนิเวศ สิ่งแวดล้อมที่ประชาชนพึ่งพิง
  6. สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อม ปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อม
  7. สิทธิของธรรมชาติด้านต่าง ๆ ที่ชุมชนที่อยู่ ดำรงชีพ และมีบทบาทในการดูแลธรรมชาติ จะทำหน้าที่หลักในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
  8. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สนับสนุนจากรัฐและสังคม โดยชุมชน ประชาชนที่ปกป้องดูแล จัดการนิเวศ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจะต้องมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง สนับสนุนจากรัฐและสังคมในฐานะพลเมืองที่ดูแลประโยชน์สาธารณะ

          ปัญหาการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมส่วนมากมาจากโครงสร้างการจัดการนิเวศ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่รวมศูนย์ของรัฐ การขยายตัวของระบบกรรมสิทธิ์ต่อทรัพยากรและแลกเปลี่ยนถ่ายโอนด้วยกลไกตลาด และนโยบายการเร่งรัดเติบโตเศรษฐกิจกระทบต่อนิเวศและสิ่งแวดล้อม

          การปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมจึงต้องมุ่งเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการจัดการนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของรัฐให้กระจายอำนาจสู่ชุมชนและสังคม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในอีกด้านก็คือ การป้องกันที่ไม่ให้ระบบตลาดมาครอบงำ แปลง หรือถ่ายโอนสิทธิในสิ่งแวดล้อมของประชาชน เพราะระบบตลาดจะมุ่งตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพและการเติบโต แต่ไม่คุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมโดยตรง

          ในวาระที่ประชาชนต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงควรผลักดันสิทธิในสิ่งแวดล้อมไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมกับปรับรื้อ (กิโยติน) ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทุกด้าน ให้วางอยู่บนหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อม

          ในด้านการขับเคลื่อนสังคม สมัชชาฯ ร่วมกับภาคี เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะมีบทบาทในการเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นไปอย่างซับซ้อน และสร้างกระบวนการเรียนรู้กับชุมชน และสังคมให้เข้าใจ พัฒนาแนวคิด ข้อเสนอ และขับเคลื่อนสิทธิในสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมการคุ้มครองสิทธิ และเป็นฐานการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายจากระดับล่าง และแนวระนาบสู่นโยบาย กฎหมาย กลไกของรัฐ