Skip to content
Home » Article » ขยะพลาสติกทะเล เมื่อมนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ มนุษย์ต้องกู้ธรรมชาติให้ได้

ขยะพลาสติกทะเล เมื่อมนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ มนุษย์ต้องกู้ธรรมชาติให้ได้

สัมภาษณ์โดย กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร

ร้อยละ 80 เกิดจากการรั่วไหลของขยะบนบก ขยะที่ลงแม่น้ำเจ้าพระยามาลงอ่าวไทย มาตรฐานจัดการขยะไทยมีแหล่งกำจัดมาตรฐานไม่ถึงร้อยละ 50 การรั่วไหลจึงมาก โดยเฉพาะโฟม พลาสติก ซึ่งไม่ย่อยสลาย แต่แตกสลายเป็นชิ้นเล็กปนเปื้อนนิเวศทะเล

นั่นคือคำบอกเล่าของภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ หรือพี่นก ผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง ที่ทำงานบุกเบิกเรื่องการจัดการขยะทะเลมาตั้งแต่ปี 2561

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
ผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง

พี่นก เล่าให้ฟังว่า เราเริ่มที่จังหวัดตรังปี 2561 แต่ที่เกาะลันตาเริ่มปี 2565 แต่ก็คุยแนวคิดมาตลอด ตั้งแต่ไปทำเรื่องระบบนิเวศอ่างพังงา มูลนิธิอันดามันร่วมกับกลุ่มกระบี่ go green

ตอนนี้มีโรคจากไมโครพลาสติกที่มาแรงคือ โรคพลาสติกโคซิน เกิดแผลอักเสบทางเดินอาหาร เกิดจากการสะสมไมโครพลาสติกในทางเดินอาหาร กะเพราะ ลำไส้ใหญ่ ส่งผลต่อระบบดูดซึมสารอาหาร แม้ยังไม่พบในคน แต่พบในนกทะเลแล้ว

ปัญหาผลกระทบขยะรุนแรงในเต่าทะเล กับวาฬ ส่วนพะยูน มีการชันสูตรพบเศษพลาสติกปนในกระเพาะอาหาร แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามาจากพลาสติก ปัญหาอาจเกิดจากเรายังศึกษาไม่เพียงพอในเรื่องนี้ ไม่เหมือนกับเต่าที่เมื่อกินพลาสติก เมื่อผ่าก็พบว่าเจอพลาสติกในท้องทำให้ท้องอืดตาย ส่วนสัตว์อื่นยังไม่ชัดเจน

ขยะทะเลที่เกาะตะเกียง เกาะนอกสุดของทะเลตรัง ไม่มีคนอยู่ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว
ขวดน้ำพลาสติกมาจากไทย อิโด มาเล ศรีลังกา ของจีนน่าจะมาจากนักท่องเที่ยว

จะเปลี่ยนวิถีขยะสู่วิถีปลอดขยะได้อย่างไร

          ที่เราทำคือ สร้างมาตรฐานสมัครใจ สร้างความตระหนัก กำหนดแผน ทำบันทึกความร่วมมือ ขับเคลื่อนโรดแมปพลาสติก กรณีจังหวัดตรัง ทำเป็นมาตรการจังหวัด รับหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วม มีตัวชี้วัด หลักคือลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เหลือเฉพาะที่จำเป็น และมีระบบแยกขยะเพื่อเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ที่เหลือเข้าสู่ระบบกำจัด (ซึ่งมักไม่ได้มาตรฐาน) และเลิกโฟม และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทดแทน ส่วนขยะอินทรีย์ที่มีร้อยละ 50-60 แยกออกจากไป ถ้าเป็นโรงแรมจะมีปริมาณขยะอินทรีย์เยอะ บางโรงแรมทำปุ๋ย บางโรงแรมให้เกษตรกรเป็นอาหารสัตว์ ส่วนตามร้านอาหารจะมีเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มารับอยู่แล้ว ที่บ้านผมเรียกระบบข้าวหมู เอาถังอาหารไปตั้งตามร้านอาหารและเก็บมาเลี้ยงสัตว์

          ที่ตรัง เราทำเรื่องตัวชี้วัดทั้งจังหวัด ที่เกาะลันตาทำทั้งอำเภอทั้งร้านค้า หน่วยงาน แต่จุดเน้นจริง ๆ ที่ลงไปถึงจะเป็นกลุ่มที่เป็นชุมชนชายฝั่ง องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล อุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ยกตัวอย่างโรงแรมในเกาะจะเป็นโรงแรมสีเขียว ปลอดโฟม การพานักท่องเที่ยวไปทะเล ถ้าเป็นเรือนำเที่ยวขนาดกลางและใหญ่ก็จะปลอดพลาสติก อาหารจะเป็นบุฟเฟห์ แก้วจะมีเป็นภาชนะ ท่องเที่ยวชุมชนบางแห่งก็สื่อสารว่านักท่องเที่ยวไม่ต้องเตรียมอะไรมา ไม่ต้องเตรียมขวดน้ำพลาสติก แต่ชุมชนเตรียมไว้ให้หมดแล้ว

          ถ้าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว เริ่มจากกลุ่มที่มีแนวคิดเหล่านี้อยู่แล้ว เราไปร่วมมือคิดค้นพัฒนายกระดับ เช่น ที่เกาะลันตา ทุกคนเห็นร่วมว่าไปสู่การท่องเที่ยวสีเขียว เป็น Blue and Green Island พัฒนาแนวคิด สื่อสาร พูดคุยหาข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประกอบการทั้งหมดและลงนามในปฏิญญาเกาะลันตาปีที่ผ่านมา ยิ่งที่ไหนชูความเป็นกรีนเด่นชัด เขาจะมีแขกเข้าพักสม่ำเสมอ แม้จะราคาสูง (5-6 พันบาทขึ้นไป) แต่ก็เต็มตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นว่า การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ พร้อมจะจ่าย

          ส่วนท้องถิ่น การทำข้อตกลงท้องถิ่น ชุมชนไปได้ดี แต่ส่วนที่ยากที่สุดคือขยะครัวเรือน ชุมชน ทุกคนคุ้นชินกับการใช้แล้วทิ้ง และมักจะคิดว่าให้ท้องถิ่นเอาไปจำกัด ต้องเปลี่ยนความคิด เป็นส่วนยากที่สุด แต่ก็มีความคืบหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักกิจกรรม อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครทรัพยากรชายฝั่ง ก็เป็นกำลังสำคัญ ตอนนี้กำลังทำข้อตกลงตำบลหลายตำบล ร้านค้าอาจจะยากหน่อยเพราะเขาต้องขาย ส่วนร้านอาหารปรับตัวได้

ในกิจกรรมต่าง ๆ จะมีเด็กเยาวชนเข้าร่วม เช่น เก็บขยะทะเล เราจะมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ในชุมชนเป็นการเฉพาะ คนรุ่นอายุ 20-30 ปีที่ปักหลักในหมู่บ้านราวร้อยละ 1-2 ส่วนในวัยเรียนมาร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราว และไม่รู้จะกลับมาหมู่บ้านหรือไม่ ติดตามได้ยาก แต่ถ้าคนรุ่นหนุ่มสาวที่ปักหลักในชุมชนแล้วมีศักยภาพในการจัดการ

กองขยะชายฝั่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่พร้อมไหลลงทะเลในหน้ามรสุม

ผลของการขับเคลื่อน

ตอนนี้ปริมาณขยะที่พบในทะเลพบว่าน้อยลง จากคำบอกเล่าของผู้ประกอบการ แต่ความจริงจะไปได้ดีกว่านี้ถ้าไม่เจอโควิด ก่อนหน้านั้นการประชุมในส่วนราชการจังหวัดไม่มีขวดพลาสติกเลย แต่ตอนนี้ขวดพลาสติกก็กลับมา

ส่วนที่มีข้อตกลงอยู่แล้ว ก็ดำเนินการตามข้อตกลง มีการให้รางวัล ส่วนที่เป็นชุมชนก็ต้องทำงานความคิด จัดกิจกรรมไปเก็บขยะทะเลเป็นระยะ รวมทั้งการรณรงค์ให้เห็นภัยสุขภาพที่มาจากขยะ ความร่วมมือกับสาธารณสุขก็ต้องมากขึ้นหลังจากแผ่วไป

กระแสสิ่งแวดล้อมเบาลงจาก 4-5 ปีที่แล้ว ขณะนี้สหประชาชาติกำลังร่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยจัดการขยะพลาสติกในทะเล ถ้าผ่านการพิจารณาและถูกรับรอง จะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ภาคีจะต้องนำไปปรับใช้เป็นกฎหมาย มูลนิธิอันดามันเรามีนักวิชาการศึกษาด้านกฎหมาย การใช้มาตรการภาษี สอดคล้องกับที่ สสส.กำลังผลักดันร่าง พรบ.บรรจุภัณฑ์ เป็นกฎหมายที่ให้ทุกคนรับผิดชอบจัดการขยะตนเอง

โอกาสความสำเร็จอยู่ที่ไหน เรื่องขยะทะเลเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และย้อนกลับมากระทบมนุษย์เป็นโรคอุบัติใหม่ จะหยุดได้ด้วยการกระทำของตนเอง และต้องมีมาตรการกฎหมายออกมาใช้บังคับด้วย การรอให้ทุกคนตระหนักร่วมอาจจะสายเกินไป เพื่อให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบต่อมลพิษทางทะเลที่เราก็ขึ้น ปัญหาไมโครพลาสติกในทะเลมีผลกระทบระดับเดียวกับปัญหาน้ำมันรั่ว โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยของเสียลงทะเล แต่ไมโครพลาสติกลงทะเลมาจากเราทุกคน