Skip to content
Home » Article » หยุด..ทำลายโลกใบนี้ ก้าว.สู่โลกที่ยั่งยืน ข้อเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา)

หยุด..ทำลายโลกใบนี้ ก้าว.สู่โลกที่ยั่งยืน ข้อเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา)

หยุด..ทำลายโลกใบนี้ ก้าว.สู่โลกที่ยั่งยืน
ข้อเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(นายวราวุธ ศิลปอาชา)

โดย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี

——————–

สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) และองค์กรภาคีความร่วมมือ ได้ร่วมประชุมเพื่อประมวลสถานการณ์การขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาข้อเสนอภาคประชาชน ระหว่างวันที่ ๒-๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีประเด็นข้อเสนอที่สำคัญ ๑๑ ประเด็น ดังนี้

๑.ร่วมกันรักษาโลก เราทุกคนไม่มีแผนสองในการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศเพราะเราไม่มีโลกที่สอง โลกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อหายนะที่จะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก การประชุม COP26 กำหนดเป้าหมายร่วมที่จะให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน ๑.๕ องศาเซนเซียล ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายใต้การพัฒนาของโลกในปัจจุบันอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น ๓.๕ องศาเซนเซียล ความต่างของอุณหภูมิ ๒ องศาเซนเซียลเป็นระยะห่างที่สูงมาก ดังนั้นจึงต้องเริ่มแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทันทีและอย่างจริงจัง
บนหลักการผู้ปล่อยคาร์บอนต้องรับผิดชอบการลดคาร์บอน ไม่ผลักภาระให้ภาคส่วนอื่นทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนเพื่อนำไปคิดค่าคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในกลไกการค้าคาร์บอน อาทิ การให้ภาคป่าไม้ดูดซับคาร์บอนทดแทนการลดคาร์บอนของภาคพลังงานหรือภาคอุตสาหกรรม

กำหนดเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ฐานการปล่อยในปัจจุบัน กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ และลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.๒๕๘๓ ลดการปล่อยให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. ๒๕๙๓

ก้าวผ่านการใช้พลังงานถ่านหิน พลังงานฟอลซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน โดยจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านที่เริ่มต้นทันที ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน ธุรกิจ หน่วยงานราชการโดยเริ่มจากหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่า รวมทั้งการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ไม้ยืนต้นในพื้นที่เกษตรกรรมและเอกชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูดซับคาร์บอน การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนจะช่วยดูดซับคาร์บอนและลดการปล่อยมีเทน

การดำเนินการให้ประชาชนตื่นรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง ชุมชน ผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์

๒.ความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนและปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย กลไก ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม ธรรมาภิบาล การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และคำนึงถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมของหญิงและชาย กลุ่มชุมชน คนชายขอบ และกลุ่มผู้เปราะบาง

๓.ระบบนิเวศฐานชีวิตและความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชนชนบท ชุมชนเมืองและเราทุกคนล้วนแต่ต้องพึ่งพิงความสมดุลของระบบนิเวศ บริการของระบบนิเวศทางตรงคือเงื่อนไขของการมีชีวิต บริการของระบบนิเวศทางอ้อมคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต สถานการณ์ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด ๑๙ ได้แสดงให้เห็นศักยภาพของระบบนิเวศในการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ และพื้นที่รองรับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน การปิดพื้นที่ท่องเที่ยว ดังนั้นการคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศโดยความร่วมมือกับชุมชนและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การสร้างชีวิตที่ดีร่วมกัน

ด้านทะเลและชายฝั่ง การจัดทำพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อการคุ้มครองระบบนิเวศ ควบคุมและยกเลิกการทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน การอนุรักษ์พะยูน โลมา เต่าทะเล

๔.ฝุ่นพิษและ PM ๒.๕ ภาวะคุกคามต่อสุขภาพและสิทธิในสิ่งแวดล้อม เร่งรัดนโยบายพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า โรงงานปลอดมลพิษ นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจฐานราก นโยบายลดพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องแต่ละภูมินิเวศ การจัดการที่ดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน กระจายอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการและควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นและควัน อาทิ ไฟป่า การเผาพื้นที่เกษตรกรรม

๕.ขยะพิษจากอุตสาหกรรม การลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากในฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มมาตรการและการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง การพัฒนาระบบการระงับการกระทำผิดอย่างทันสถานการณ์ ดำเนินการทางกฎหมายอย่างรวดเร็วต่อผู้กระทำผิด

สร้างและขยายเครือข่ายประชาชนให้เป็นอาสาสมัครติดตามเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ประสานหน่วยงาน และการติดตามการแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย จัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครโดยการใช้แนวทางวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองมาเสริมศักยภาพของท้องถิ่น การจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ

กรมควบคุมมลพิษ ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเพิ่มประสิทธิภาพในการระงับยับยั้ง การป้องกันเหตุ รวมทั้งการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ซึ่งได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเบื้องต้นไว้โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

๖.ขยะทะเล โฟมและพลาสติกเป็นขยะทะเลที่ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทะเล ยกระดับแนวคิดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจาก การผลิตและใช้อย่างเสรีเป็นภัยสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการควบคุม

การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการทั้งระบบจากขยะบกไปสู่ขยะทะเล ยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขยะพลาสติกยกเลิกการผลิตกล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก แก้วพลาสติกและถุงหูหิ้วแบบบาง ในปี ๒๕๖๕ ไม่ขยายเวลาผ่อนปรนการนำเข้าขยะพลาสติกเนื่องจากทำให้พลาสติกในประเทศมีราคาต่ำ ขาดแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเก็บขยะพลาสติกออกจากระบบนิเวศเข้าสู่ระบบรีไซเคิล กระทบต่ออาชีพ รายได้ของคนในระบบรีไซเคิล

พัฒนาระบบความรับผิดขอบของผู้ผลิตและผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือกำจัด เพิ่มภาษีกำจัดขยะในบรรจุภัณฑ์ตามขนาด ชนิดที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

๗.พื้นที่ชุ่มน้ำ แรมซาไซด์ การปรับปรุงคณะอนุกรรมการพื้นที่ชุมน้ำ คณะทำงานวิชาการ และระบบคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเพิ่มเติมตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามความร่วมมือ

๘.แม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติและผลกระทบข้ามพรมแดน แม่น้ำโขงตกอยู่ในภาวะ การสูญเสียระบบนิเวศอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา จากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำในหลายประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ควรจัดให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน การจัดทำการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนข้ามพรมแดน และการสนับสนุนเสริมสร้างความสามารถของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง

๙.ชุมชนคนอยู่กับป่า สร้างความร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนแนวคิดคนอยู่กับป่า

โดยที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลา ๓ ปี จึงควรเริ่มกระบวนการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายตามกรอบระยะ ๕ ปี ประกอบด้วย พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. ๒๕๖๒ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐

๑๐.ประชาชนหุ้นส่วนการพัฒนา ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน อาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๑๗ การสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงระเบียบข้อจำกัดด้านการมีส่วนร่วม และการขับเคลื่อนให้มีการรับรองสิทธิชุมชน การยกระดับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระร่วมของสังคม จึงเป็น
กระบวนการสำคัญที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

๑๑.ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระสำคัญที่ต้องสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินงานและประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยการจัดให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาควิชาการ

สมัชชาองค์กรเอกชนฯ

มีนาคม ๒๕๖๕


“ หยุด.. ทำลายโลกใบนี้ ก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน”