สรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ ๕ ภูมิภาค
เรื่อง “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม นโยบายและกฎหมาย”
บทนำ
ตลอดช่วงระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและกฎหมายหลายประการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสิทธิของบุคคลและชุมชนในด้านต่างๆ จากที่เคยรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงในระดับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจำนวนหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๙ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๑ พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.๒๕๖๑พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.๒๕๖๑ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นต้น ในขณะที่ในระดับนโยบายได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ นโยบายด้านการจัดการขยะ ตลอดจนนโยบายด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคี ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง สถานการณ์ภูมิภาคและนโยบาย กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ใน ๕ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านนโยบาย กฎหมายและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการเตรียมพร้อมต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการปรับบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้อง
การประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง ๕ ครั้งดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึง แนวโน้มสถานการณ์ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ปัญหาหมอกควัน การจัดการขยะ รวมถึงกรอบนโยบายระหว่างประเทศใหม่ๆ เช่น การเตรียมความพร้อมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตลอดทั้งยังมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะต่อไป
๑. สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑.๑ ทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน
ปัญหาข้อพิพาทกรณีที่ดินป่าไม้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน ทั้งนี้ ในช่วงปี ๒๕๕๘-๒๕๖๒ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าตลอดทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้มีมติเห็นชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ต่อมาได้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพ.ศ.๒๕๖๒
นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงกฎหมายและตรากฎหมายใหม่ขึ้นบังคับใช้อีกหลายฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๖๒ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มขึ้นสีเขียวและ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าในรูปแบบป่าชุมชน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า การดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่าจะไม่กระทบต่อคนยากจนและผู้ยากไร้
กรณีพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒
ผลการประชุมสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดป่าชุมชนเป็นแนวทางการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า ประสบการณ์จัดการการดูแลป่าโดยชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้นทั้งในพื้นที่ป่าบกและป่าชายเลน ในกรณีพื้นที่ป่าชายเลนปรากฏชัดเจนว่าชุมชนซึ่งดูแลและจัดการป่าชายเลนชุมชนมีความตระหนักถึงความสำคัญของป่าต่อระบบนิเวศน์ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดให้ชุมชนขอจัดตั้งป่าชุมชนได้เฉพาะนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ (นอกเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตวนอุทยานและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ทำให้มีพื้นที่ที่จะสามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้เพียงประมาณ ๗.๓ ล้านไร่เท่านั้น ตัวอย่างกรณีของจังหวัดน่าน ซึ่งมีป่าชุมชนประมาณ ๓๐๐ กว่าแห่ง แต่ภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ทำให้มีป่าชุมชนที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายป่าชุมชนและสามารถจัดตั้งได้เพียง ๓๐ แห่ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ ในเขตพื้นที่อนุรักษ์หรือเตรียมประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งเขตทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยานหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
นอกจากนั้นแม้กฎหมายจะให้ชุมชนที่จัดตั้งป่าชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นได้ แต่กลับห้ามไม่ให้ใช้ไม้ทรงคุณค่า ซึ่งนิยามความหมายถึงไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และชนิดอื่นๆ ที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้นเองเท่านั้น
ที่ประชุมยังเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ เป็นเครื่องมือส่งเสริมการจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน และให้ชุมชนสามารถจัดตั้งป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยพิจารณาถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการป่าเป็นหลัก
นอกจากนั้นในการจัดทำอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการกำหนดในรายละเอียด หลักเกณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิชุมชน และเอื้อให้ชุมชนจัดการป่าชุมชนอย่างแท้จริง โดยกรมป่าไม้ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ตลอดทั้งให้มีตัวแทนป่าชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติด้วย
กรณีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒
ผลประชุมเห็นว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ยังไม่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และควบคุมการใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างเข้มงวดโดยมีบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ชุมชนถูกจำกัดการเข้าไปใช้ประโยชน์ตามจารีตประเพณีและวิถีดั้งเดิมในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เห็นว่าชุมชนเคยมีบทบาทสำคัญในการปกป้องป่าจากสัมปทานทำไม้ในอดีต ในการดำรงชีวิตจำเป็นต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ดังนั้นจึงควรสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดคนอยู่กับป่า
กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ แม้จะกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยไว้ โดยกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการสำรวจให้เสร็จภายใน ๒๔๐ นับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับ แต่เนื่องจากการสำรวจเขตที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามมาตรา ๖๔ ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ และมาตรา ๑๒๑ ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ผูกโยงกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์กรณีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑A และพื้นที่ล่อแหลม จึงจะมีชุมชนจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือไม่สามารถเข้าสู่การสำรวจและการดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินตามกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวได้ และอาจได้รับผลกระทบจากบทกำหนดโทษที่รุนแรงมายิ่งขึ้น
ผลการประชุมได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการทวงคืนผืนป่าต่อประชาชนในหลายพื้นที่ซึ่งต้องเผชิญกับการสูญเสียที่ดินทำกินและอยู่อาศัย การถูกตัดทำลายผลอาสินและการถูกจับกุมดำเนินคดีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้หลายฉบับเห็นว่าทั้งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับรองหลักการเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพไว้แล้ว รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาค มีการกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายดังกล่าวอาจไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าได้
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
- การแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยเฉพาะการกระจุกตัวของที่ดินทำกินซึ่งจะต้องมีมาตรการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินโดยมาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ได้เข้าถึงที่ดินทำกิน รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนซึ่งจะสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระยะยาว
- ขับเคลื่อนแนวคิดสิทธิชุมชนซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓(๒) ได้รับรองให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
- สนับสนุน ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เกิดความเป็นชุมชน สร้างกิจกรรมร่วมกันเพื่อดูประโยชน์สาธารณะ เพื่อยืนยันตัวตนของชุมชนและจะเป็นเกราะป้องกันชุมชนในระยะยาวได้
- สร้างรูปธรรมในระดับพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน ป่าชายเลนชุมชน การจัดการน้ำชุมชน
- มีการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงานครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
- คิดค้นหาวิธีการในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยเปลี่ยนแนวลบมาเป็นเชิงบวก เช่น ร้านคนจับปลา วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น
- มีกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายฉบับต่างๆ รวมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
๑.๒ ทรัพยากรน้ำ
ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากแต่ก็ยังขาดการบูรณาการทำงานร่วมกัน นอกจากนั้น การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน ประตูระบายน้ำ ได้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนในหลายพื้นที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.๒๕๖๒ โดยกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ จัดตั้ง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ ตลอดทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การจัดสรรน้ำ การบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต เป็นต้น
กรณีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง
ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมามีการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติจำนวนถึง ๑๖ เขื่อน รวมทั้งยังมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดพันธุ์ปลาและพันธุ์พืชในแม่น้ำโขง โดยพบว่า สิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงมากกว่า ๑๐ สายพันธุ์ อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของโลก การประชุมมีข้อเสนอแนะว่าโครงการของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งลงทุนของบริษัทเอกชนซึ่งจะส่งกระทบต่อแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตของชุมชน เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และมีความเห็นว่าก่อนที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ๆ ควรมีการทบทวนบทเรียนผลกระทบจากโครงการเก่าที่เกิดขึ้นมาแล้ว และเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงที่สูญเสียให้กลับคืนมา
กรณีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษน้ำอิง
แม่น้ำอิงมีต้นกำเนิดจากทิวเขาผีปันน้ำ หลังจากนั้นไหลผ่านอำเภอแม่ใจ ผ่านกว๊านพะเยา เข้าสู่จังหวัดเชียงรายและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอิง มีความยาวประมาณ ๒๖๐ กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของสายน้ำอิงเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร และเป็นแหล่งทำการประมง อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม่น้ำอิงอยู่ในภาวะถูกคุกคาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น โครงการก่อสร้างระบบประตูน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่แม่น้ำอิงตอนกลางทำให้การไหลเวียนของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ลำน้ำมีสภาพตื้นเขินและส่งผลต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ คงเหลือเฉพาะพื้นที่แม่น้ำอิงตอนปลาย ซึ่งมีความยาวประมาณ ๓๑.๗ กิโลเมตร ที่ยังคงเหลือสภาพเป็นป่าพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ประมาณ ๑๗ แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ ๙,๐๐๐ กว่าไร่ นอกจากนั้นยังมีการขยายพื้นที่ของสวนกล้วยหอมจีนซึ่งมีการใช้น้ำและการใช้สารเคมีซึ่งอาจกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอพญาเม็งราย ของจังหวัดเชียงราย และมีความต้องใช้น้ำในการประกอบอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าว จึงทำให้สถานการณ์แย่งชิงน้ำในช่วงฤดูแล้งที่เกิดขึ้นอยู่ประจำมีแนวโน้มความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น
ผลจากการประชุมยังคงสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในด้านชลประทานและการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นมาแต่ในอดีตและอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือจะดำเนินการในอนาคต เช่น โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โครงการเขื่อนปากมูล โครงการประตูน้ำศรีสองรัก โครงการเขื่อนวังหีบ โครงการเขื่อนคลองสังข์ โครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งกำลังมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
- ควรปรับปรุงกระบวนการศึกษาและกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) ตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- ควรมีมาตรการลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
- การบริหารจัดการน้ำควรเน้นการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กและให้เป็นไปตามวิถีชีวิตของพื้นที่
- ควรมีการจัดตั้งคณะบริหารจัดการน้ำที่มาจากพื้นที่ต่างๆในภาคอีสานที่ประสบปัญหา เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน
- กรณีเขื่อนศรีสองรัก ควรมีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการและให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน ตลอดทั้งให้คนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย
- ควรเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาชลประทานในอดีตให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น กรณีโครงการเขื่อนปากมูล
- ควรกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ตลอดทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำในท้อองถิ่นของตนเอง
- ควรมีการทบทวนพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.๒๕๖๒ เนื่องจากยังไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิชุมชน กฎหมายสร้างเงื่อนไขการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของชุมชนที่มีความยากลำบากยิ่งขึ้น
- การจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
๑.๓ ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและประมง
สถานการณ์ภาพรวมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการจัดการทรัพยากรประมงยังเป็นประเด็นสำคัญในช่วงระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการจัดการทรัพยากรประมงให้อยู่บนฐานของความสมดุลและยั่งยืน โดยการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ ขึ้นมาบังคับใช้ ที่สำคัญคือการออกพระราชกำหนดประมง พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อควบคุมการทำประมงทั้งประมงพาณิชย์อันเนื่องมาจากการกดดันจากมาตรการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU)
ผลการประชุมยังสะท้อนว่า แม้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ จะเป็นกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง และมีพัฒนาการเชิงบวกทั้งในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการควบคุมการทำประมงที่มีลักษณะเป็นการทำลายล้างและไม่ยั่งยืน แต่ในภาพรวมของการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้กับรับส่วนกลางค่อนข้างสูง
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
- การสร้างรูปธรรมการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับพื้นที่ชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการจัดการทรัพยากรร่วม (Co-Management)
- การณรงค์เพื่อให้เกิดการทำการประมงที่ยั่งยืน ผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกการทำประมงที่มีลักษณะเป็นการทำลายล้าง เช่น เครื่องมือจับปลาวัยอ่อนและไม่ขนาด รวมทั้งรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค เช่น การลดลงของจำนวนปลาทูในอ่าวไทยซึ่งสัมพันธ์กับการทำการประมงที่ไม่ยั่งยืน เป็นต้น
- ควรมีการรณรงค์เพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและลดปัจจัยคุกคามต่อทรัพยากรประมง เช่น ผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- การพัฒนาต้นแบบการประกอบธุรกิจที่อยู่บนฐานของความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีร้านคนจับปลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
- ทรัพยากรแร่
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นกฎหมายซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ และปรับปรุงการบริหารจัดการแร่ของประเทศเสียใหม่ ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติทำหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ เพื่อเป็นกรอบนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศไทย นอกจากนั้นพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ ยังปรับปรุงขั้นตอน กระบวนการในการอนุญาตอาชญาบัตร ประทานบัตร การทำเหมือง สิทธิและหน้าที่ของผู้ถือประทานบัตร การทำเหมืองใต้ดิน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การคุ้มครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ การประกอบธุรกิจแร่ การแต่งแร่และการประกอบโลหะกรรม ความรับผิดทางแพ่ง การควบคุมและการตรวจสอบ เป็นต้น
กรณีโรงแต่งแร่ดีบุก อำเภอเชียงแสน
เดิมบริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ดีบุกในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมาร์ใกล้กับชายแดนประเทศจีน อย่างไรก็ตามรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ไม่อนุญาตให้แต่งแร่ดีบุกในประเทศและการขนย้ายแร่เข้าสู่ประเทศจีนทำได้ยาก บริษัทเอกชนจึงขอตั้งโรงแต่งแร่ในเขตประเทศไทยในพื้นที่บ้านสันมะเค็ด ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยจะมีการขนแร่ดีบุกทางเรือจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำและขนส่งผ่านทางรถบรรทุกเพื่อนำแร่ไปผ่านกระบวนการยังโรงงานแต่งแร่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น การขนส่งซึ่งจะขนส่งข้ามพรมแดนมาทางเรือและขนส่งต่อด้วยรถขนาดใหญ่ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาจราจรและเสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุได้ ผลกระทบจากการใช้น้ำในกระบวนการแต่งแร่ที่ต้องใช้ในปริมาณมาก และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสารโลหะหนักที่มากับแร่ดีบุกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างและปนเปื้อนในการทำการเกษตร การประมงและการปศุสัตว์ได้
กรณีเหมืองถ่านหิน อำเภออมก๋อย
อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บางส่วนเป็นพื้นที่นา ที่ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านมีมติร่วมกันจะลดการมีพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่ที่เหมืองแร่ถ่านหินมีขนาดพื้นที่ ๒๘๔ ไร่ ๓๐ ตารางวา โดยบริษัทเอกชนได้เข้ามาศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงปี ๒๕๔๒ – ๒๕๔๓ ต่อมาคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในปี ๒๕๕๔ ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรและขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้แล้ว ทั้งนี้ ชุมชนมีข้อกังวลว่าการประกอบกิจการโรงงานแต่งแร่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะการปนเปื้อนของของโลหะหนักในแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม
การประชุมได้สะท้อนความคิดเห็นถึงช่องว่างและข้อจำกัดของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ อาทิ แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจ ประเมินศักยภาพแหล่งแร่และความเหมาะสมของการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และการอนุญาตให้ทำเหมืองได้จะต้องกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเสียก่อน แต่ในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ดังกล่าวไม่ได้มีการสำรวจ ประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงการนำเขตประทานบัตร เขตคำขอประทานบัตร เขตอาชญาบัตรมากำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบปัญหาของกระบวนการรังวัดไต่สวนประทานบัตรซึ่งสามารถใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศได้โดยไม่ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อรังวัดไต่สวน ซึ่งเป็นการตัดการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการดังกล่าว สำหรับด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนแม้จะกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร แต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้มีข้อตกลงที่ชัดเจนว่าควรทำหรือไม่ควรทำเหมืองแร่แต่อย่างใด และกรณีไม่สามารถตกลงหาข้อยุติได้กฎหมายแร่ให้ใช้การทำประชามติประชาชนคนที่มีทะเบียนบ้านในบริเวณเขตคำขอประทานบัตร ซึ่งอาจพบการย้ายสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อมาประกอบการทำประชามติเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
- ควรทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ โดยเฉพาะเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองซึ่งแผนแม่บทได้กำหนดขึ้นโดยยังไม่ได้มีการศึกษาศักยภาพและจำแนกเขตพื้นที่อย่างละเอียดรอบคอบ
- การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องระบุมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนเข้าไปด้วย
- การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ มีการให้ข้อมูลข่าวสาร ผลดี ผลเสียและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนรอบด้าน นอกจากนั้นจะต้องมีความโปร่งใส ทำสรุปข้อมูลผลกระทบที่เป็นจริง เพื่อประกอบการพิจารณาความเห็น/ชอบ ว่าเห็นสมควรหรือไม่ที่จะกระทำโครงการ มากกว่าการการจัดทำกระบวนการเพื่อให้ได้ทำเหมือง
- ควรผลักดันให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีที่มีการร้องเรียนถึงปัญหาการดำเนินโครงการและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
- ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฉบับภาคประชาชนเพื่อใช้เป็นข้อมูลศึกษาเปรียบเทียบ
๑.๕ ผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
๑. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) ครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย ภายใต้โครงการดังกล่าวมีการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้เสนอพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้สิทธิพิเศษในด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมทั้งยกเว้น ลดกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่างๆ
กรณีชุมชนหนองตีนนก
ชุมชนหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนเกษตรกรรม เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้ในการขยายระบบโครงการพื้นฐานเพื่อพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทรนเนอร์ (Inland Container Depot : ICD) หรือท่าเรือบก บนพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่ ทำให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดินต้องสูญเสียที่ดินทำกินที่เคยประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมายาวนาน นอกจากนั้นยังกังวลถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการจราจรที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น
กรณีชุมชนเขาดิน
ชุมชนเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เคยเช่าที่ดินทำการเกษตรและการประมงมายาวนาน การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินและการค้าที่ดิน ทำให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินต้องถูกยกเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ขายที่ดินให้กับนักลงทุนเพื่อทำไปพัฒนาเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม
ผลการประชุมสะท้อนให้ว่า นอกจากผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเกิดจากนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแล้ว พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ ยังมีผลอันเป็นการยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบางประการ เป็นต้น ทั้งนี้ ร่างผังเมืองที่กำลังจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำลังจะเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีเป็นพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม จะก่อให้เกิดการแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของเกษตรกร
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
- ควรมีการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อนเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
- ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยเฉพาะเกี่ยวกับการวางผังเมืองและการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วม
- การพัฒนาควรอยู่บนพื้นฐานศักยภาพและความยั่งยืนของพื้นที่ภาคตะวันออก เปลี่ยนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นเขตสร้างสรรค์ความสุข ที่มีเป้าหมายในการสร้างความอยู่ดีมีสุข การพัฒนาพื้นที่มีความสมดุล รับมือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
๒. นวัตกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒.๑ นวัตกรรมการผลิตบนวิถีการจัดการป่าชุมชน บ้านห้วยหินลาดใน
บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย จัดการป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ โดยชุมชนได้ร่วมกันดูแลและใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากป่าในหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำชาป่าอินทรีย์ธรรมชาติ การหาหน่อไม้ การท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะการเก็บหาน้ำผึ้งธรรมชาติซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญ
การศึกษาชีวิตของผึ้งพบว่า ผึ้งจะมาทำรังช่วงเดือน เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ชุมชนจึงทำคอนโดให้ผึ้ง จากเดิมในปี ๒๕๕๔ มีการวางคอนโดเลี้ยงผึ้ง ๑๐๐ กล่อง มีผึ้งทำรัง ๒๗ กล่อง ปัจจุบันปี ๒๕๖๒ มีผึ้งทำรังถึง ๕๐๐ กล่อง สามารถเก็บผลผลิตซึ่งเป็นน้ำผึ้งได้ทั้งสิ้น ๑,๘๐๐ ขวด ในการจัดการน้ำผึ้งจะมีการกำหนดกฎ กติกาชุมชนเพื่อดูแลผึ้งซึ่งเชื่อมโยงโดยต่อกับการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่ป่าชุมชน มีการวางแผนการตลาด การจัดทำแพ็คเกจที่สวยงามและมีการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับผึ้ง การให้ชุมชนได้เก็บหาผลผลิตจากป่าทำให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่า นอกจากนั้นยังสามารถจัดสรรรายได้มาตั้งเป็นกองทุนดูแลจัดการป่าหรือดำเนินกิจกรรมในชุมชนได้ด้วย
- น้ำพางโมเดล
น้ำพางโมเดลเกิดจากรวมตัวกันของท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลน้ำพาง จังหวัดน่าน มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ป่าให้สมบูรณ์มากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงที่ดินทำกินและอยู่อาศัย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนในชุมชน โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำ การสำรวจ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำและแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และการจัดตั้งกองทุนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ในการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวมาสู่การผลิตในระบบเกษตรผสมผสาน
ในด้านการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ มีการพัฒนายกระดับอาชีพและรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรให้คนในชุมชนอยู่อย่างพอเพียงและมีความสุข โดยการพัฒนากลุ่มอาชีพ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภาคการเกษตร ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกร เพื่อรองรับผลผลิตจากน้ำพางโมเดลและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดที่เป็นธรรม ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยชุมชน
๒.๓ แม่แจ่มโมเดล
ความพยายามในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินและการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จากการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกิดจากความร่วมมือของหลายองค์กรทั้งชาวแม่แจ่ม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางในการดำเนินงานคือ การจัดระเบียบที่ดิน หยุดการขยายพื้นที่ ช่วยกันรักษาสิทธิในที่ดิน สร้างพื้นที่สีเขียว ออกแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปลูกพืชหลากหลายใช้พื้นที่น้อยให้ผลผลิตเท่าเดิม เพิ่มมูลค่าของพื้นที่โดยการปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ปลูกพืชช่วงสั้นๆ ๓ – ๖ เดือน และปลูกพืชช่วงกลาง ๓ – ๔ ปี เช่น ปลูกไผ่ กาแฟ และปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น สัก มะค่า เป็นต้น ลักษณะเด่นของแม่แจ่มโมเดลคือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลการใช้ที่ดินที่มีการสำรวจมาอย่างต่อเนื่อง การนำกลไกตลาดเข้ามาใช้เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพและปริมาณของสินค้าของชุมชน
๒.๔ การเฝ้าระวังกับการใช้เทคโนโลยีโดรนในการจัดการเชื้อเพลิง
การชิงเผาเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการจัดการไฟป่า โดยเบื้องต้นจะดำเนินการเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดไฟไหม้ป่า โดยจะดำเนินการช่วงเดือน ธันวาคม – มกราคม อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเกิดไฟป่ามักจะอยู่ในพื้นที่หน้าผา สูงชัน การส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปดำเนินการชิงเผาทำได้ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย จึงได้เทคโนโลยีโดรนมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการชิงเผาในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เป็นการประหยัดแรงงานและงบประมาณ โดยในการดำเนินการชิงเผาด้วยโดรนจะต้องมีการชี้เป้าจุดที่จะดำเนินการเผา ควบคู่ไปกับการทำแนวกันไฟเพื่อควบคุมไฟไม่ให้เกิดการลุกลามออกไป ปัจจุบันมีการถ่ายทอดความรู้ โดยการอบรมให้กับเจ้าที่ป่าไม้และชาวบ้าน
๒.๕ ยุทธศาสตร์เกษตรและศูนย์กลางอาหารปลอดภัยภาคตะวันออก
การทำเกษตรอินทรีย์ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หลักการสำคัญของทำการเกษตรอินทรีย์จะให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางพันธุกรรม สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกถือได้ว่ามีความเหมาะสม มีการเพาะเลี้ยงและปลูกพืชอาหารสำคัญ เช่น ผลไม้ พืชผัก ข้าว การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เป็นแหล่งสมุนไพร เป็นต้น อีกทั้งยังมีสภาพพื้นที่เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีผืนป่าและระบบนิเวศเหมาะสมสำหรับการเป็นคลังสำรองพันธุกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรและศูนย์กลางอาหารปลอดภัยภาคตะวันออก มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการผลิตของภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย เกษตรกรรายเล็กปรับมาทำการผลิตอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอสำหรับครอบครัว ชุมชนและสังคม ลดปัญหาความเจ็บป่วยอันเป็นผลมาจาการบริโภค มีระบบเกษตรที่รับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่ผู้ผลิตเกิดกลุ่มที่เข้มแข็ง เป็นต้น
๓. ประมวลทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม
๓.๑ การพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้
- การสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นข้อมูลเพื่อเสนอทบทวนนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่กระทบอย่างร้ายแรง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ส่งผลกระทบต่อคนยากจน ข้อมูลความสมบูรณ์ของพื้นที่และประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดจากการดำเนินการเหมืองแร่ รวมไปถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน เป็นต้น
- การสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับพื้นที่
๓.๒ ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะ
- ควรผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการนโยบายสาธารณะหรือโครงการขนาดใหญ่ โดยต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเคารพสิทธิชุมชน มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการทั้งในแง่ผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียของโครงการขนาดใหญ่อย่างครบถ้วนรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
- ควรมีการปรับปรุงกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินโครงการต่างๆ
- การผลักดันให้นำต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ตลอดทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในด้านอื่นๆ ไปรวมเป็นต้นทุนของการดำเนินโครงการเพื่อให้เห็นภาพรวมของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ และไม่ผลักภาระต้นทุนผลกระทบจากโครงการไปให้แก่ประชาชนแบกรับ
- การขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุก ได้แก่ การจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยมีข้อเสนอให้จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนข้อเสนอร่วม การจัดเวทีสมัชชาทุกปีเพื่อติดตามข้อเสนอและติดตามการทำงานของรัฐบาล การจัดทำข้อมูลเสนอต่อผู้บริหารเพื่อให้นำไปสู่การตัดสินใจในการจัดทำแผนการพัฒนาในพื้นที่
- การขับเคลื่อนโดยการรณรงค์เชิงนโยบายรูปแบบใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากแนวลบมาเป็นเชิงบวก เช่น กรณีร้านคนจับปลา เป็นต้น
๓.๓ การสร้างเครือข่าย บูรณาการทำงานร่วมกัน
- มีการเชื่อมโยงในระดับนโยบายไปสู่ในระดับท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เพื่อเท่าทันกับนโยบาย มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาคีภาคส่วนต่างๆ เช่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจ เป็นต้น
๓.๔ การพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น
- ควรมีการพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลายๆ ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นต้น
- การพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น
๓.๕ การสร้างพื้นที่รูปธรรม เชื่อมโยงในทุกมิติ
- การสร้างรูปธรรมในระดับพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน ป่าชายเลนชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ นำไปประยุกต์พัฒนาต่อยอดต่อไป
- สนับสนุน ส่งเสริมการบูรณาการในระดับพื้นที่ได้โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย โดยมีการทำงานครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจชุมชน และอื่นๆ
- การสร้างความร่วมมือและการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เช่น การสนับสนุนชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- การเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนบนเศรษฐกิจฐานราก เช่น การท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชน การจัดการผลผลิตจากป่าชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
*********************************************
แสดงต้นฉบับใน Digital file ประกอบรายงานนี้
เอกสารภาคผนวก ๒
การบันทึกภาพนิ่งแสดงกระบวนการทำงาน : การจัดนิทรรศการ
เนื่องในการประชุมสมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชน
ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
เอกสารภาคผนวก ๓
แสดงภาพบรรยากาศโดยรวม
เนื่องในการประชุมสมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชน
ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
รายงานสรุปผลการดำเนินงาน : จ้างจัดทำหนังสือและนิทรรศการ เนื่องในการประชุมสมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนฯ 19-21 สิงหาคม 2562