กรมป่าไม้จับมือกับภาคสังคมและเอกชนเตรียมผลักดันให้ป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่เข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อขายให้กลุ่มทุนไปชดเชยคาร์บอนของตนเอง โดยเมินเสียงวิจารณ์การฟอกเขียวจากประชาสังคมทั่วโลก
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ร่วมกับส่วนป่าชุมชนกรมป่าไม้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาคีเอกชน จัดประชุมออนไลน์เรื่อง “โอกาสของป่าชุมชน คนดูแลป่า บนเส้นทางคาร์บอนเครดิต”
นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ได้เล่าว่า ป่าชุมชนจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 เพื่อดูดซับคาร์บอน เนื่องจากป่าไม้เป็นภาคส่วนเดียวที่ไม่ได้ปล่อยแต่ช่วยดูดกลับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ทำให้เอกชนสนใจมาสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่า จึงอยากให้ป่าชุมชนทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ได้เข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้กรมป่าไม้ก็ได้ออกระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่า พ.ศ.2564 ภายใต้ พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 มาตรา 18 เรื่องการกำหนดระเบียบการใช้ประโยชน์จากไม้ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชุมชน โดยเชิญชวนว่า “คาร์บอนเครดิตในภาคป่าชุมชน เป็นโอกาสชุมชน ภาคธุรกิจจะเข้ามาเสริมหนุนป่าชุมชน มีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำเอกสาร วางแปลง กรมป่าไม้ออกกฎหมายแบ่งปัน แต่ชุมชนต้องได้รับอนุมัติตั้งป่าชุมชน ท่านมีหน้าที่ดูแลป่า มีสิทธิรับประโยชน์จากป่า ทั้งผลผลิต ท่องเที่ยว การแบ่งปันคาร์บอนเครดิต”
ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น บมจ.ราช กรุ๊ป มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ผลักดันให้เกิดป่าชุมชนคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในประเทศไทย คือป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี ที่เริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 2558 และรับรองคาร์บอนเครดิตในปี 2565 โดยมีบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บมจ.ราช กรุ๊ป มาตรวจวัดคาร์บอน ได้ 5,259 ตันคาร์บอนฯ โดยชุมชนจะดูแลรักษาป่าไป 10 ปี และจะได้ส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิตร้อยละ 90 คิดเป็นเงิน 4,733,000 บาท (แต่จะได้จริงเท่าไหร่ขึ้นกับราคาคาร์บอนเครดิต ณ วันซื้อขาย) ซึ่งในขณะนี้ก็พร้อมขายให้กับภาคเอกชน
นางนันทนา ยังตอบข้อห่วงใยเรื่องการฟอกเขียวว่า องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่เป็นผู้ดูแลมาตรฐานคาร์บอนเครดิต T-VER ที่เป็นมาตรฐานเดียวของประเทศไทย ได้กำหนดให้ธุรกิจที่จะมาลงทุนคาร์บอนเครดิตต้องลดคาร์บอนตัวเองก่อน และใช้ชดเชยได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และกรมป่าไม้ก็ออกระเบียบให้เอกชนต้องมาสนับสนุนการปลูกป่า อนุรักษ์ป่าก่อน เมื่อครบ 10 ปีจึงจะได้คาร์บอนเครดิต โดยเอกชนจะได้สามารถลดหย่อนภาษีได้ (ตามระเบียบกรมป่าไม้เรื่องการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เอกชนที่ลงทุนจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 90) ในขณะนี้มีป่าชุมชนเป้าหมายโครงการคาร์บอนเครดิต 132 ป่า คิดเป็นพื้นที่ 316,262 ไร่
ในส่วนภาคเอกชน นายบวร วรรณศรี บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ลำปาง อธิบายว่า บริษัทกำลังผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนฯ รวมถึงใช้ Natural Base Solution ด้วยการใช้ต้นไม้ มีเป้า 3 ล้านตันฯ เป็นการปลูกป่า 1.5 ล้านไร่ แต่ก็ยอมรับว่าหากพื้นที่ปลูกป่าตามเป้าหมายดังกล่าวยากมาก “เป้าจริง ๆ คือ ชุมชน 407 หมู่บ้านในลำปางที่ร่วมกับเราก็มีการจัดการป่า น้ำ ดิน เกษตร แปรรูป เราจะสนับสนุนชุมชนให้ทุกป่าชุมชนขึ้นทะเบียน T-VER และเป็นเจ้าของ แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่พร้อมลงทุน เพราะการรับรองมาตรฐาน T-VER ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ทาง SCG เราจะลงทุนให้”
คุณสมิทธิ หาเรือนพืชน์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งร่วมมือกับกรมป่าไม้ทำป่าชุมชนคาร์บอนเครดิตในภาคเหนือและอีสาน เล่าว่า กรมป่าไม้ มีเป้าหมาย 10 ล้านไร่ (จากปัจจุบันป่าชุมชน 6 ล้านไร่) แต่แม่ฟ้าหลวงทำได้ 8 แสนไร่ กรมป่าไม้ให้แม่ฟ้าหลวง ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนฯ (รีคอฟ) มูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือเป็นพี่เลี้ยงหลัก งบฯ ที่เข้าไป มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจะมีระบบตรวจสอบ แนะนำ ไม่ได้จับผิด มีการควบคุมการเผา ตัวอย่างอำเภอร่องบอน ดอยสะเก็ด ปีนี้มีเป้าหมาย 150,000 ไร่ ภาคเหนือมีเป้าหมาย 5 จังหวัด ภาคอีสาน 1 จังหวัด
เป็นที่ให้ข้อสังเกตว่า แนวนโยบายหลายเรื่องที่จะป้องกันการฟอกเขียวอาจไม่เป็นจริง เพราะแม้ อบก.กำหนดให้ผู้ลงทุนคาร์บอนเครดิตจะต้องลดคาร์บอนตัวเองก่อน และใช้ชดเชยได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงกลุ่มทุนใหญ่หลายรายที่จองพื้นที่ป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต ล้วนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ปูนซีเมนต์ และอื่นๆ ซึ่งปล่อยคาร์บอนในปริมาณมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายมากำหนดเพดานการปล่อยว่าต้องจำกัดอยู่เท่าใด เท่ากับว่าการจะมาตรการให้ลดคาร์บอนฯ ก่อนของ อบก.ไม่สามารถป้องกันการฟอกเขียวได้ และเป็นการดำเนินการล่วงหน้าก่อนที่จะมี พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก็มีระบบรับรองคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ คาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายล่วงหน้าจะได้รับการรับรองหรือไม่ และยังขัดแย้งจากข้อเสนอของคณะผู้เชี่ยวชาญ Net Zero ภาคเอกชน สหประชาชาติปี 2022 คือ ให้ลดปล่อยคาร์บอนอย่างน้อยร้อยละ 70 และต้องพิสูจน์ว่ากิจกรรมตนเองไม่สร้างผลกระทบนิเวศก่อนจะใช้มาใช้คาร์บอนเครดิต โดยใช้เพียงส่วนเสริมเท่านั้น และไม่สามารถเอามาชดเชยในกิจกรรมหลักที่ปล่อยคาร์บอนของตัวเองได้
อีกทั้งขณะนี้เกิดวิกฤติความน่าเชื่อถือในมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของโลก เช่น มาตรฐาน VERRA จากการอ้างตัวเลขดูดซับหรือลดคาร์บอนเกินจริง กระทบนิเวศ และละเมิดสิทธิชุมชน ทำให้เอกชนหลายรายลดความสนใจคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้ราคาคาร์บอนเครดิตตกต่ำ ชุมชนที่จะทำคาร์บอนเครดิตต้องลงทุนสูงมากเพื่อจ้างเอกชนมาตรวจวัดคาร์บอน ปัญหาความคุ่มค่าจึงเป็นปัญหาสำคัญ นอกจากแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม สิทธิชุมชนจะถูกจำกัดการใช้ทรัพยากร และภาระดูแลป่าให้เอกชนอย่างไม่เป็นธรรม
สิ่งที่ยังไม่ได้ป้องกันอีกประการคือ องค์กรที่มาลงทุนคาร์บอนเครดิตหลายราย เป็นองค์กรนายหน้ารับซื้อ โดยไม่ได้มีกิจกรรมปล่อยคาร์บอนฯ ของตนเองมากนัก แต่ทำหน้าที่รับซื้อเพื่อขายต่อกับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเทศที่ปล่อยคาร์บอนฯ รายใหญ่เพื่อนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้
ดูเหมือนคำถามต่อปัญหาฟอกเขียวที่จะซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนและละเมิดสิทธิชุมชนจะไม่ได้การใคร่ครวญอย่างจริงจังมากนักเท่ากับเม็ดเงินที่ภาคส่วนต่าง ๆ จะได้จากการลงทุนคาร์บอนเครดิต เป็นไปได้สูงที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ รีคอฟ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จะเป็นพันธมิตรกับกรมป่าไม้และภาคเอกชนในการผนวกพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศให้เข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ตรงข้ามกับขบวนการป่าไม้ที่ดิน และประชาสังคมต่าง ๆ ในไทย รวมไปถึงขบวนการชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และประชาสังคมต่อที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชนทั่วโลกที่ออกมาวิจารณ์คาร์บอนเครดิตป่าไม้กับการฟอกเขียว การละเมิดสิทธิชุมชน และการทำลายนิเวศอย่างมาก
ดังที่ลาร์รี่ โลห์แมน นักวิชาการและนักกิจกรรมจาก The Corner House ที่วิพากษ์คาร์บอนเครดิตมากว่า 20 ปี ได้ตั้งคำถามต่อเอ็นจีโอที่สนับสนุนคาร์บอนเครดิต โดยยกแนวคิดเรื่องลัทธิเครื่องราง (Fetishism) ของสลาวอย ชิเชค มาเปรียบเปรยว่า “รู้ดีว่า คาร์บอนเครดิตไม่ตอบโจทย์ แต่จะทำต่อไป” และลัทธิเครื่องรางหรือไสยศาสตร์ประเภทนี้ปรากฏมากเป็นพิเศษในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการ และเอ็นจีโอกระแสหลักบางกลุ่ม ที่ได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนคาร์บอนเครดิต
——————————-
กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ รายงาน